วิภาษวิธี (บาลีวันละคำ 1,330)
วิภาษวิธี
อ่านว่า วิ-พาด-สะ-วิ-ที
ประกอบด้วย วิภาษ + วิธี
(๑) “วิภาษ”
บาลีเป็น “วิภาสา” รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน) + ภาสฺ (ธาตุ = พูด, สว่าง) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิ + ภาสฺ = วิภาสฺ + อ = วิภาส + อา = วิภาสา แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำพูดอย่างกระจ่างแจ้ง” “คำพูดต่างๆ กัน” (2) “การส่องแสงสว่างไสว” “แสงสว่างแพรวพราว”
ความรู้เพิ่มเติม :
ภาสฺ ธาตุ มีความหมายได้ 2 นัย คือ –
(1) พูด, กล่าว, พูดกับ, เรียก (speak, say, speak to, call)
(2) ส่องแสง, ส่องสว่าง, รุ่งโรจน์, โชติช่วง (shine, shine forth, fill with splendor)
“วิภาสา” เขียนแบบสันสกฤตเป็น “วิภาษา” ในที่นี้ลบสระท้ายศัพท์ ได้รูปเป็น “วิภาษ” และต้องการให้มีความหมายว่า “พูดต่างกัน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิภาษ : (คำกริยา) พูดแตกต่าง, พูดแย้ง. (ส. วิ + ภาษฺ).”
(๒) “วิธี”
บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า” (ธา > ธ)
: วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”
“วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);
(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);
(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)
“วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.
(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.
(3) กฎ, เกณฑ์.
(4) คติ, ธรรมเนียม.
วิภาษ + วิธี = วิภาษวิธี แปลตามศัพท์ว่า “วิธีพูดที่แตกต่างกัน”
“วิภาษวิธี” เป็นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสภา) จากภาษาอังกฤษว่า dialectic
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล dialectic ว่า ตรรกวิทยา, เหตุผล, การจาระไนเหตุผล
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล “dialectic” เป็นบาลีว่า –
(1) takkasattha ตกฺกสตฺถ (ตัก-กะ-สัด-ถะ) = ศาสตร์ว่าด้วยการคิด = ตรรกศาสตร์
(2) hetuvijjā เหตุวิชฺชา (เห-ตุ-วิด-ชา) = วิชาว่าด้วยการแสดงเหตผล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตรรกศาสตร์ : (คำนาม) ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยการคิดหาเหตุผลว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่, ใช้ว่า ตรรกวิทยา ก็มี. (อ. logic).”
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล “logic” เป็นบาลีว่า –
(1) takkasattha ตกฺกสตฺถ = ตรรกศาสตร์
(2) ñāya ญาย (ยา-ยะ) = ความรู้ (คำที่เราคุ้นกันดีคือ “ญายปฏิปนฺโน” ในสังฆคุณ)
ข้อสังเกต :
๑ “วิภาษวิธี” ต้องการจะให้มีความหมายว่า วิธีคิดหรือวิธีพูดที่แตกต่างกันหรือไม่ตรงกันในปัญหาหรือเรื่องราวอันใดอันหนึ่ง อย่างที่นิยมเรียกกันว่า “เห็นต่าง” คือยังตกลงไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิดหรืออะไรดีกว่ากัน
๒ แต่ “วิภาษ” แปลว่า “พูดจนกระจ่างแจ้ง” ก็ได้ คือพูดจบแล้วสามารถตัดสินได้ทันทีว่าอะไรถูกอะไรผิดหรืออะไรดีกว่ากัน
๓ เพราะฉะนั้น คำว่า “วิภาษวิธี” ในภาษาไทยจึงนับว่าเป็นคำแปลกประหลาดคำหนึ่งเพราะมีความหมายขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง
: ต่างพูดต่างคิด ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมดา
: รู้แจ้งผิดถูกเท็จจริง เป็นเรื่องยิ่งกว่าธรรมดา
20-1-59