บาลีวันละคำ

บัณฑิต (บาลีวันละคำ 776)

บัณฑิต

อ่านว่า บัน-ดิด

บาลีเป็น “ปณฺฑิต” อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ

คำว่า “ปณฺฑิต” มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) ปณฺฑา (= ปัญญา) + อิต (= ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระที่ ปณฺฑา

: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว

(2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมแล้วแปลงเป็น

: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด

(3) ปณฺฑ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, อิ อาคม

: ปณฺฑ + อิ = ปณฺฑิ + = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

ความหมายของ “ปณฺฑิต” ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent

ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัณฑิต : ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต)”

ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย

สังคมไทยถือว่า “วัด” เป็นสถาบันที่สั่งสอนอบรมคนให้รู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี ผู้ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดเมื่อลาสิกขาออกมา สังคมจึงนับถือว่าเป็น “บัณฑิต

แต่เดิมเราคงอ่าน “บัณฑิต” ว่า บัน-ทิด ( มณโฑ ออกเสียงเหมือน ทหาร)

ต่อมาเสียง “บัน” กร่อนหายไป เหลือแต่ “ทิด

คำว่า “ทิด” จึงเป็นคํานําหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระมาจนทุกวันนี้ เช่น ทิดย้อย

ปัจจุบัน ความหมายของ “บัณฑิต” ในภาษาไทยมักหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเท่านั้น จะมีความรู้จักผิดชอบชั่วดีหรือไม่แทบจะไม่คำนึงถึง

: อย่าเป็นแค่บัณฑิตไทย

: แต่จงไปให้ถึงบัณฑิตธรรม

บัณฑิตไทย : วิชาการเลิศล้ำ

บัณฑิตธรรม : ละชั่ว ประพฤติดี

#บาลีวันละคำ (776)

3-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *