บาลีวันละคำ

อภิญญา (บาลีวันละคำ 3,929)

อภิญญา

คำไม่ยาก แต่มีไม่ง่าย

อ่านว่า อะ-พิน-ยา

อภิญญา” เขียนแบบบาลีเป็น “อภิญฺญา” (มีจุดใต้ ญฺ ตัวหน้า และพึงทราบว่าในการใช้อักษรไทยเขียนคำบาลีแบบบาลีหรือแบบมคธนั้น ญ หญิง และ ฐ ฐาน ท่านให้ตัดเชิงออก แต่แบบตัวอักษรที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อยู่นี้ไม่มีแบบที่ตัดเชิง จึงต้องใช้ทั้งๆ ที่มีเชิงซึ่งไม่ถูกตามกฎ) อ่านว่า อะ-พิน-ยา รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง ใหญ่) + ญา (ธาตุ = รู้) ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

แทรกขยายความ : 

อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

: อภิ + ญฺ + ญา = อภิญฺญา + กฺวิ = อภิญฺญากฺวิ > อภิญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้ยิ่ง” (2) “การรู้อย่างยิ่ง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อภิญฺญา” ว่า serenity, special knowledge, special wisdom, Nibbāna (ความสงบ, ความรู้ยิ่ง, อภิปัญญา, นิพพาน)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อภิญญา” เป็นอังกฤษ ดังนี้ –

…………..

อภิญญา (Abhiññā) (five or six kinds of) Higher Knowledge; Superknowledges; Supernormal Powers; higher psychic powers.

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “อภิญญา” และ “อภิญญาณ” บอกไว้ว่า – 

อภิญญา, อภิญญาณ : (คำนาม) “ความรู้ยิ่ง” ในพระพุทธศาสนามี ๖ อย่าง คือ ๑. อิทธิวิธิ การแสดงฤทธิ์ได้ ๒. ทิพโสต หูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ ญาณรู้จักกําหนดใจผู้อื่น ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติได้ ๕. ทิพจักขุ ตาทิพย์ ๖. อาสวักขยญาณ ญาณรู้จักทําอาสวะให้สิ้นไป. (ป.; ส. อภิชฺญา, อภิชฺญาน).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความ “อภิญญา” ไว้ดังนี้ –

…………..

อภิญญา : ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ ๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒. ทิพพโสต หูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้ ๔. ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ๖. อาสวักขยญาณ ญาณทำให้อาสวะสิ้นไป, ๕ อย่างแรกเป็นโลกิยอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [274] แสดงความหมายของ “อภิญญา” ทั้งภาษาไทยและอังกฤษไว้ดังนี้ –

…………..

อภิญญา 6 (ความรู้ยิ่งยวด — Abhiññā: superknowledge; ultra-conscious insight)

1. อิทธิวิธา หรือ อิทธิวิธิ (ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ — Iddhividhā: magical powers)

2. ทิพพโสต (ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ — Dibbasota: divine ear)

3. เจโตปริยญาณ (ญาณที่ให้กำหนดใจคนอื่นได้ — Cetopariyañāṇa: penetration of the minds of others; cf. telepathy)

4. ปุพเพนิวาสานุสสติ (ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ — Pubbenivāsānussati: remembrance of former existences; cf. retrocognition)

5. ทิพพจักขุ (ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์ — Dibbacakkhu: divine eye)

6. อาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป — Āsavakkhayañāṇa: knowledge of the exhaustion of all mental intoxicants)

ห้าข้อแรกเป็นโลกิยะ (โลกียอภิญญา) ข้อท้ายเป็นโลกุตตระ.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ทันโลก ติด

: รู้ทันจิต หลุด

#บาลีวันละคำ (3,929)

16-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *