ฉายาหลวงพ่อจรัญ (บาลีวันละคำ 1,337)
ฉายาหลวงพ่อจรัญ
พระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2559 สื่อต่างๆ เอ่ยถึงชื่อของท่านชุกชุมเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็ได้พบการเขียนนามสมณศักดิ์และนามฉายาของท่านคลาดเคลื่อนมากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน
(๑) นามสมณศักดิ์
หลวงพ่อจรัญได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม มีราชทินนามว่า “พระธรรมสิงหบุราจารย์”
“สิงหบุราจารย์” แปลว่า “อาจารย์ในจังหวัดสิงห์บุรี”
พระราชาคณะแบ่งเป็นชั้นต่างๆ และอาจได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นขึ้นไปตามลำดับ ที่ยุติในปัจจุบันมีลำดับดังนี้ –
(1) พระราชาคณะชั้นสามัญ อันเป็นชั้นต้นของพระราชาคณะ ราชทินนามเช่น พระศรีวิสุทธิวงศ์ พระเมธีวราภรณ์
(2) พระราชาคณะชั้นราช เช่น พระราชสุธี พระราชโมลี
(3) พระราชาคณะชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี พระเทพเวที
(4) พระราชาคณะชั้นธรรม เช่น พระธรรมปิฎก พระธรรมสิงหบุราจารย์
(5) พระราชาคณะเจ้าคณะรอง (ชั้นหิรัญบัฏ) นิยมเรียกกันว่า “ชั้นพรหม” เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ พระพรหมมุนี
(6) สมเด็จพระราชาคณะ (ชั้นสุพรรณบัฏ) คือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “สมเด็จ” เช่น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สมเด็จพระวันรัต
ต่อจากชั้นสมเด็จก็จะเป็น “สมเด็จพระสังฆราช”
ดูเพิ่มเติม : “พระราชาคณะ” บาลีวันละคำ (1,302) 22-12-58
คำว่า “พระธรรมสิงหบุราจารย์” เขียนติดกันเป็นคำเดียว
ไม่ใช่แยกเป็น-พระธรรม สิงหบุราจารย์
โดยเข้าใจว่า “พระธรรม” เป็นชื่อพระ (พระชื่อ “ธรรม”) “สิงหบุราจารย์” เป็นนามสกุล
ทำนองเดียวกับชื่อ “พระยาอนุมานราชธน”
เคยเห็นมีคนเขียนเป็น-พระยาอนุมาน ราชธน
เพราะไปเข้าใจว่า “อนุมาน” เป็นชื่อของพระยาท่านนี้ “ราชธน” เป็นนามสกุล
สังเกตเห็นว่าคนสมัยนี้มักเขียนนามสมณศักดิ์ของพระภิกษุแยกเป็น 2 กลุ่มคำเช่นนี้กันมาก เช่น “พระครูพิพัฒน์ธรรมธาดา”
เขียนเป็น-พระครูพิพัฒน์ ธรรมธาดา
เพราะไปเข้าใจว่า “พิพัฒน์” เป็นชื่อของพระครู ส่วน “ธรรมธาดา” เป็นนามสกุล อย่างนี้เป็นต้น เหตุทั้งนี้เพราะไม่เข้าใจและไม่ได้ศึกษาลักษณะของราชทินนาม
(๒) นามฉายา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
ฉายา : ชื่อที่พระอุปัชฌายะตั้งให้แก่ผู้ขอบวชเป็นภาษาบาลี เรียกว่า ชื่อฉายา ที่เรียกเช่นนี้เพราะเดิมเมื่อเสร็จการบวชแล้ว ต้องมีการวัดฉายาคือเงาแดดด้วยการสืบเท้าว่าเงาหดหรือเงาขยายแค่ไหน ชั่วกี่สืบเท้า การวัดเงาด้วยเท้านั้นเป็นมาตรานับเวลา เรียกว่า บาท เมื่อวัดแล้วจดเวลาไว้และจดสิ่งอื่นๆ เช่นชื่อพระอุปัชฌายะ พระกรรมวาจาจารย์ จำนวนสงฆ์ และชื่อผู้อุปสมบท ทั้งภาษาไทยและมคธลงในนั้นด้วย ชื่อใหม่ที่จดลงตอนวัดฉายานั้น จึงเรียกว่า ชื่อฉายา
……..
หลวงพ่อจรัญมีนามฉายาเป็นภาษาบาลี อ่านออกเสียงว่า ถิ-ตะ-ทำ-โม
คำนี้เขียนได้ 2 แบบ
แบบอักขรวิธีบาลี : ฐิตธมฺโม (-ธมฺ– มีจุดใต้ ม ไม่ต้องมีไม้หันอากาศ)
แบบอักขรวิธีไทย : ฐิตธัมโม (-ธัม– ใช้ไม้หันอากาศ ไม่ต้องมีจุดใต้ ม)
หมายเหตุ :
เมื่อใช้อักษรไทยเขียนคำบาลี เฉพาะ ฐ ฐาน และ ญ หญิง ท่านให้ตัดเชิงออก
เขียนผิด :
ฐิตธัมฺโม : –ธัมฺ– มีจุดใต้ ม ด้วย ใช้ไม้หันอากาศด้วย > ผิด
ฐิตธรรมโม : –ธรรม– ใช้ ร หัน เหมือนคำไทย > ผิด
ฐิตธมฺโม/ฐิตธัมโม แปลว่า “ผู้ดำรงอยู่ในธรรม”
: ผู้ใฝ่รู้ย่อมหาความรู้ได้แม้ในความไม่รู้นั่นเอง
: เช่นเดียวกับบัณฑิตหาสุขในทุกข์ได้ฉะนั้น
27-1-59