บาลีวันละคำ

อาจารยวาท (บาลีวันละคำ 1,350)

อาจารยวาท

อ่านว่า อา-จา-ระ-ยะ-วาด

ประกอบด้วย อาจารย + วาท

(๑) “อาจารย” (อา-จา-ระ-ยะ)

บาลีเป็น “อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –

๑) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์

๒) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น

๓) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่

๔) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

๕) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)

๖) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต

อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า อาจารย์ (a teacher)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”

(๒) “วาท

บาลีอ่านว่า วา-ทะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา ด้วยอำนาจ ปัจจัย (วทฺ > วาท)

: วทฺ + = วทณ > วท > วาท แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด

วาท” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)

(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)

(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)

(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)

อาจริย + วาท = อาจริยวาท > อาจารยวาท แปลตามศัพท์ว่า “คำสอนของอาจารย์

ถ้าไม่คุ้นกับคำว่า “อาจารยวาท” ก็ขอให้นึกถึงคำว่า “อาจารย์” ที่เราคุ้นกันดี

คำว่า “อาจารย์” นั่นเอง ตัดการันต์ออกก็จะได้รูปเป็น “อาจารย” (อา-จา-ระ-ยะ)

และ “อาจารย” นั่นเอง เติมการันต์ที่ ก็จะได้รูปเป็น “อาจารย์” (อา-จาน)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “อาจริยวาท” (อาจารยวาท)ไว้ดังนี้ –

traditional teaching; later as heterodox teaching, sectarian teaching (opp. theravāda orthodox doctrine)

(คำสอนตามแบบที่เป็นประเพณีมีมานาน ต่อมาภายหลังเป็นคำสอนที่นอกรีตนอกรอยเดิม, คำสอนที่มีความเห็นแยกจากลัทธิใหญ่ [ตรงข้ามกับเถรวาท คือคำสอนเชิงอนุรักษ์นิยม])

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

(๑) อาจริยวาท : วาทะของพระอาจารย์, มติของพระอาจารย์; บางที ใช้เป็นคำเรียกพุทธศาสนานิกายฝ่ายเหนือ คือ มหายาน

(๒) มหายาน : “ยานใหญ่”, นิกายพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ 500–600 ปี โดยสืบสายจากนิกายที่แตกแยกออกไปเมื่อใกล้ พ.ศ.100 (ถือกันว่าสืบต่อไปจากนิกายมหาสังฆิกะ ที่สูญไปแล้ว) เรียกชื่อตนว่ามหายาน และบางทีเรียกว่าโพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์) พร้อมทั้งเรียกพระพุทธศาสนาแบบเก่าๆ รวมทั้งเถรวาทที่มีอยู่ก่อนว่า หีนยาน (คำว่าหีนยาน จึงเป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ใช้เรียกสิ่งที่เก่ากว่า) หรือเรียกว่าสาวกยาน (ยานของสาวก), มหายานนั้นมีผู้นับถือมากในประเทศแถบเหนือของทวีปเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต และมองโกเลีย บางทีจึงเรียกว่า อุตรนิกาย (นิกายฝ่ายเหนือ) เป็นคู่กับ ทักษิณนิกาย (นิกายฝ่ายใต้) คือ เถรวาท ที่นับถืออยู่ในประเทศแถบใต้ เช่น ไทยและลังกา ซึ่งทางฝ่ายมหายานเรียกรวมไว้ในคำว่า หีนยาน, เนื่องจากเถรวาท เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม จึงมีคำเก่าเข้าคู่กัน อันใช้เรียกนิกายทั้งหลายที่แยกออกไป รวมทั้งนิกายย่อยมากมายของมหายาน หรือเรียกมหายานรวมๆ ไปว่า อาจริยวาท หรือ อาจารยวาท (ลัทธิของอาจารย์ ที่เป็นเจ้านิกายนั้นๆ), ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตคือ เถรวาท ไม่ว่าที่ไหน ในประเทศใด ก็ถือตามหลักการเดิมเหมือนกันหมด ส่วนมหายาน แยกเป็นนิกายย่อยมากมาย มีคำสอนและข้อปฏิบัติแตกต่างกันเองไกลกันมาก แม้แต่ในประเทศเดียวกัน เช่น ในญี่ปุ่นปัจจุบันมีนิกายใหญ่ ๕ แยกย่อยออกไปอีกราว 200 สาขานิกาย และในญี่ปุ่น พระมีครอบครัวได้แล้วทุกนิกาย แต่ในไต้หวัน เป็นต้น พระมหายานไม่มีครอบครัว.

สรุป “อาจารยวาท” ก็คือพระพุทธศาสนาสายที่นับถือคำสอนของอาจารย์สำคัญกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า

: ยกย่องอาจารย์ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า

: พระพุทธศาสนาจะเน่าโดยไม่รู้ตัว

9-2-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย