ศัลยกรรม (บาลีวันละคำ 1,358)
ศัลยกรรม
อ่านว่า สัน-ละ-ยะ-กำ
ประกอบด้วย ศัลย + กรรม
(๑) “ศัลย”
บาลีเป็น “สลฺล” (สัน-ละ) รากศัพท์มาจาก –
1) สลฺลฺ (ธาตุ = ไปเร็ว) + อ ปัจจัย
: สลฺลฺ + อ = สลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปเร็ว”
2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ล ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (ส)-รฺ เป็น ลฺ (สรฺ > สลฺ)
: สรฺ + ล = สรฺล > สลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนสัตว์”
“สลฺล” หมายถึง ลูกศร, ขวาก, หลาว, ไม้แหลม, ขนเม่น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สลฺล” ว่า an arrow, dart (ลูกศร, ลูกดอก)
บาลี “สลฺล” สันสกฤตเป็น “ศลฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศลฺย : (คำนาม) ‘ศัลยะ, ศัลย์,’ หอกซัด; หลาว; ขวากหรือหนามทั่วไป; ศร; บาป; ความลำบาก; อปวาท; เม่น; เขตต์; นฤบดี, ผู้มาตุลของยุธิษเฐียร; a javelin; a bamboo-stake; any stake or thorn; an arrow; sin; difficulty; abuse; porcupine; a boundary; a king; the maternal uncle of Yudhishṭhir.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศัลย– : (คำนาม) ลูกศรหรือของมีปลายแหลมอื่น ๆ. (ส.).”
(๒) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย –
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)
บาลี “กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
สลฺล + กมฺม = สลฺลกมฺม > ศลฺยกรฺม > ศัลยกรรม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำด้วยของแหลม”
ความหมายในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ศัลยกรรม : (คำนาม) การรักษาโรคโดยวิธีผ่าตัด.”
การแก้ปัญหาในองค์กรหรือในสังคมที่ไม่สามารถใช้วิธีปกติธรรมดาได้ เนื่องจากมีความซับซ้อน บางกรณีต้องใช้วิธีขุดรากถอนโคน เคยมีสำนวนสมัยใหม่เรียกการแก้ปัญหาเช่นนั้นว่าแก้ปัญหาแบบ “ผ่าตัด”
ปรัชญาศัลยกรรม :
: รักษาชีวิตอย่าห่วงแขนขา
: รักษาพระศาสนาอย่าห่วงอลัชชี
17-2-59