มหาชาติ (บาลีวันละคำ 1,361)
มหาชาติ
อ่านว่า มะ-หา-ชาด
ประกอบด้วย มหา + ชาติ
(๑) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหนฺต เข้าสมาสกับ –ชาติ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๒) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 2 แปลง น ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)นฺ > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 3 ลบ น ที่ (ช-)นฺ ทีฆะ อะ ที่ ช เป็น อา : ชนฺ > ช > ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
มหา + ชาติ = มหาชาติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิดที่ยิ่งใหญ่” หมายถึงการเกิดครั้งสำคัญของพระโพธิสัตว์
ความรู้ :
๑. เรื่องการเกิดของพระโพธิสัตว์ท่านเรียกว่า “ชาดก” จัดเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎก (ดูรายละเอียดที่ “ชาตก” (1) (2) (3) บาลีวันละคำ (127) 12-9-55, (128) 13-9-55, (129) 14-9-55)
๒. คัมภีร์ชาดกแบ่งเรื่องเป็นกลุ่มตามจำนวนคาถาที่เป็นตัวชาดกแต่ละเรื่อง เรื่องที่มี 1 คาถา เรียกว่า “เอกนิบาต” (เอ-กะ-นิ-บาด) เรื่องที่มี 2 คาถา เรียกว่า “ทุกนิบาต” (ทุ-กะ-นิ-บาด) ไปจนถึงเรื่องที่มีคาถาจำนวนมากเกิน 80 คาถา เรียกว่า “มหานิบาต”
๓. ชาดกที่ว่าด้วยเรื่องการเกิดครั้งสำคัญจัดอยู่ในกลุ่มมหานิบาต มี 10 เรื่อง คือ (1) เตมิยชาดก (2) มหาชนกชาดก (3) สุวัณณสามชาดก (4) เมนิราชชาดก (5) มโหสถชาดก (6) ภูริทัตตชาดก (7) จันทกุมารชาดก (8) นารทชาดก (9) วิธุรชาดก (10) เวสสันดรชาดก
คนแต่ก่อนจำเฉพาะคำแรกว่า “เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว” เรียกกันว่า “หัวใจพระเจ้าสิบชาติ”
ทั้ง 10 เรื่องนี้เรียกว่า “มหาชาติ” ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเป็นเรื่องที่อยู่ในกลุ่ม “มหานิบาต” ก็ได้
๔. เวสสันดรชาดกเป็นเรื่องที่มีผู้นิยมสดับตรับฟังกันมาก จึงเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุด จนถึงเมื่อพูดว่า “มหาชาติ” ก็เข้าใจกันว่าหมายถึงเวสสันดรชาดก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหาชาติ : (คำนาม) เรียกเวสสันดรชาดกว่า มหาชาติ มี ๑๓ กัณฑ์, การมีเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เรียกว่า มีเทศน์มหาชาติ. (ป.).”
: เกิดมาทำบาป เกิดมาขาดทุน
: เกิดมาทำบุญ เกิดมาได้กำไร
20-2-59