สงฆ์ของรัฐ (บาลีวันละคำ 4,051)
สงฆ์ของรัฐ
สงฆ์ประเภทใหม่
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นคำว่า “สงฆ์ของรัฐ” ในข้อคิดเห็นของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง เห็นว่าเป็นคำที่แปลกดี จึงขอถือโอกาสเอามาเขียนเป็นบาลีวันละคำ
คำว่า “สงฆ์ของรัฐ” มีคำบาลี 2 คำ คือ “สงฆ์” และ “รัฐ”
(๑) “สงฆ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ (บาลีบางรุ่นสะกดเป็น “สํฆ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ + หนฺ = สํหนฺ > สํฆ + อ = สํฆ > สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังฆ– : (คำนาม) สงฆ์, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”
ขยายความ :
“สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย
บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์”
ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้
ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “ภิกขุสงฆ์” ซึ่งอาจเป็นภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้
(๒) “รัฐ”
บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ฐต (คือ ฐ ที่ รฐ + ต ปัจจัย)เป็น ฏฐ ( –ฐต > –ฏฺฐ)
: รฐฺ + ต = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”
(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (รชิ > รช), แปลง ชต เป็น ฏฐ
: รชิ > รช + ต = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)
“รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐบาล” อ่านว่า รัด-ถะ-บาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
…………..
“สงฆ์ของรัฐ” บาลีว่าอย่างไร?
ขณะที่เขียนคำนี้ยังไม่พบคำบาลีในคัมภีร์ที่พอจะแปลได้ว่า “สงฆ์ของรัฐ”
คำที่พอจะเทียบได้น่าจะเป็นคำว่า “ภควโต สาวกสงฺโฆ” ที่ปรากฏในสังฆคุณ
“ภควโต สาวกสงฺโฆ” (ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ) แปลว่า “สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค” เรียกสั้นๆ ล้อคำว่า “สงฆ์ของรัฐ” ก็เรียกว่า “สงฆ์ของพระพุทธเจ้า”
เทียบตามนี้ “สงฆ์ของรัฐ” คำบาลีก็น่าจะเป็น “รฏฺฐสฺส ภิกฺขสงฺโฆ” (รัด-ถัด-สะ พิก-ขุ-สัง-โค) แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ภิกษุของรัฐ” ปรุงรูปศัพท์เป็นคำบาลีไทย ก็น่าจะเป็น “รัฏฐิกสงฆ์” อ่านว่า รัด-ถิ-กะ-สง แปลตรงตัวว่า “สงฆ์ของรัฐ”
ขยายความ :
“สงฆ์ของรัฐ” หมายความว่าอย่างไร?
ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้เห็นคำจำกัดความหรือคำอธิบายความหมายคำว่า “สงฆ์ของรัฐ” และไม่ทราบว่าท่านผู้เอ่ยคำนี้ขึ้นมามีคำจำกัดความหรือคำอธิบายแนบไว้ด้วยหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงเอ่ยขึ้นมาลอยๆ
เพราะฉะนั้น ความหมายที่จะว่าต่อไปนี้จึงเป็นความเห็นหรือความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำแต่เพียงผู้เดียว
คำว่า “สงฆ์ของรัฐ” น่าจะมีความหมายว่า ภิกษุส่วนหนึ่งผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหรือมีหน้าที่ในการบริหารงานพระศาสนา (คำว่า “งานพระศาสนา” หมายถึงกิจทั้งปวงอันกระทำกันอยู่ในพระพุทธศาสนา) และตำแหน่งหรือหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งนั้นเป็นตำแหน่งหรือหน้าที่อันมีขึ้นหรือเกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่รัฐตราขึ้น
“พระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่รัฐตราขึ้น” ถ้าชี้ชัดลงไปในขณะปัจจุบันนี้ก็คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 กำหนดให้มีตำแหน่งและหน้าที่ใด ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหรือมีหน้าที่นั้น นี่แหละคือ “สงฆ์ของรัฐ”
ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 บัญญัติว่า “เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป”
เจ้าอาวาสทุกวัดจึงเป็น “สงฆ์ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
เท่าที่ฟังความคิดทั่วไปของท่านผู้เอ่ยคำว่า “สงฆ์ของรัฐ” ขึ้นมา จับความได้ว่า ท่านผู้เอ่ยคำว่า “สงฆ์ของรัฐ” ขึ้นมาเห็นว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นกฎหมายที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย บรรดาระเบียบที่ออกตามมาตามความในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างไร จึงเป็นระเบียบที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหรือมีหน้าที่ในการบริหารงานพระศาสนาเมื่อใช้อำนาจหน้าที่กระทำการใดๆ ก็ชื่อว่ากระทำสิ่งที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยไปด้วย
นี่คือภาพรวมของ “สงฆ์ของรัฐ” ตามเจตนาของผู้เอ่ยคำนี้ขึ้นมา-ตามที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจ-ซึ่งอาจไม่ได้มีความหมายดังที่ว่านี้เลยก็ได้
ดังนั้น จึงต้องหาความชัดเจนกันต่อไปว่า “สงฆ์ของรัฐ” หมายความว่าอย่างไร
แถม:
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอฝากคำถามแถมท้ายว่า –
“สงฆ์ของรัฐ” ปฏิบัติตามกฎหมายที่รัฐตราขึ้นเท่านั้น ไม่ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ใช่หรือไม่? และ-ได้หรือไม่?
หรือว่า-ถ้ายังครองเพศสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ไม่ว่ารัฐจะออกกฎหมายอะไรอย่างไร ภิกษุก็ยังต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเป็นหลักอยู่นั่นเอง
เว้นไว้แต่-กฎหมายที่รัฐตราขึ้นบังคับใช้มีถ้อยคำ-หรือแม้แต่ข้อความที่อาจตีความได้ว่า “ห้ามภิกษุปฏิบัติตามพระธรรมวินัย”
ถ้าไม่มีถ้อยคำ-หรือแม้แต่ข้อความที่อาจตีความได้เช่นว่านั้น (“ห้ามภิกษุปฏิบัติตามพระธรรมวินัย”) การที่ “สงฆ์ของรัฐ” ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย-ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตาม นั่นย่อมเป็นความบกพร่องของตัวผู้ปฏิบัติเอง และความบกพร่องนั้นมิได้มีสาเหตุมาจากกฎหมายที่รัฐตราขึ้นบังคับใช้แต่ประการใด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ของรัฐหรือสงฆ์ของใคร
: ถ้าไม่ถือพระธรรมวินัยก็ไม่ควรเรียกว่าสงฆ์
#บาลีวันละคำ (4,051)
16-7-66
…………………………….
…………………………….