ยมทูต (บาลีวันละคำ 1,362)
ยมทูต
อ่านว่า ยม-มะ-ทูด
ประกอบด้วย ยม + ทูต
(๑) “ยม”
บาลีอ่านว่า ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก ยมฺ (ธาตุ = ระวัง, เลี้ยงดู, ปรนปรือ) + อ ปัจจัย
: ยมฺ + อ = ยม แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้คอยระวังเหล่าสัตว์” คือใครทำกรรมอย่างไร ควรไปเสวยผลในภพภูมิไหน ก็นำไปส่งยังภพภูมินั้น เหมือนคนดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในที่ในทาง
(2) “ผู้ปรนปรือ” คือคอยรับใช้มัจจุราชด้วยการนำคนถึงที่ตายไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยม” ว่า the ruler of the kingdom of the dead (ผู้ปกครองอาณาจักรแห่งคนตาย)
สรุปว่า “ยม” หมายถึง ความตาย หรือโลกแห่งความตาย (death, world of the dead) ไม่ใช่นรกหรือสวรรค์โดยเฉพาะ
(๒) “ทูต”
บาลีอ่านว่า ทู-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; เดือดร้อน) + ต ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)
: ทุ + ต = ทุต > ทูต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาส่งไป” “ผู้เดือดร้อน” (เพราะจะต้องผจญการต่างๆ แทนเจ้าของเรื่อง) หมายถึง ผู้ไปทำการแทน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทูต” ว่า a messenger, envoy (คนนำข่าวมาบอก, คนสื่อสาร)
โปรดสังเกตว่า “ทูต” ใช้ ท ทหาร ไม่ใช่ ฑูต ฑ มณโฑ หรือ ฑ หัวแตก เช่นเดียวกับคำว่า “ทีฆายุโก” ที– ก็ใช้ ท ทหาร ไม่ใช่ ฑีฆายุโก
ยม + ทูต = ยมทูต แปลว่า ทูตของพญายม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยมทูต” ว่า Yama’s envoy, Death’s messenger
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยมทูต : (คำนาม) ผู้นําคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคําตัดสิน. (ป., ส.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
ยมทูต : ทูตของพญายม, สื่อแจ้งข่าวของความตาย หรือสภาวะที่เตือนให้นึกถึงความตายเพื่อจะได้ไม่ประมาททำความดีเตรียมไว้ เช่น ความแก่หง่อม.
อีกคำหนึ่งที่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ “เทวทูต”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
เทวทูต : ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สัญญาณที่เตือนให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิต มิให้มีความประมาท จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย, จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์ และคนตาย (เทวทูต ๓ มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์); ส่วน เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรกเป็นเทวทูต ส่วนสมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทวทูต ๔ ไม่ อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิงว่าอาจเรียกทั้งสี่อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่าเป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)
: เมื่อกิเลสทำให้สติฟั่นเฟือน
: ต่อให้ร้อยพันยมทูตมาเตือนก็ไม่รู้สึกตัว
—————
(ตามคำถามของ Tantan Pm)
21-2-59