บาลีวันละคำ

ปลงอาบัติ (บาลีวันละคำ 1,366)

ปลงอาบัติ

ประกอบด้วย ปลง + อาบัติ

(๑) “ปลง” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปลง : (คำกริยา) เอาลง เช่น ปลงหม้อข้าว, ปล่อยหรือเปลื้องให้พ้นไป (ในลักษณะที่รู้สึกว่าหนักอยู่) เช่น ปลงหาบ; เมื่อใช้ประกอบกับคําอื่น มีความหมายต่าง ๆ.”

(๒) “อาบัติ

อ่านว่า อา-บัด บาลีเป็น “อาปตฺติ” อ่านว่า อา-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ยิ่ง) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (ป)-ทฺ เป็น (ปทฺ > ปต)

: อา + ปทฺ = อาปทฺ + ติ = อาปทติ > อาปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การถึงอย่างยิ่ง” “การถึงทั่วไปหมด” “การต้อง

อาปตฺติ” มาจากคำกริยา “อาปชฺชติ” (อา-ปัด-ชะ-ติ) แปลว่า ถึง, พบ, ประสบ, ทำ, ก่อ. แสดง (to get into, to meet with; to undergo; to make, produce, exhibit)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาปตฺติ” ว่า an ecclesiastical offence (โทษทางวินัยของสงฆ์)

นักบาลีมักแปลตามศัพท์ว่า “การต้อง” หมายถึง “กระทบ” คือ การกระทำเช่นนั้นไปกระทบเข้ากับฐานความผิด หรือมีความผิดเข้ามากระทบผู้กระทำ

อาปตฺติ” หมายถึง โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ อย่างที่เข้าใจกันด้วยภาษาง่ายๆ ว่า “ผิดศีล” หรือ “ศีลขาด

คำนี้เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า “อาบัติ” เช่น “พระทำอย่างนี้ไม่เป็นอาบัติหรือ

(ดูเพิ่มเติมที่ “อาบัติ” บาลีวันละคำ (413) 2-7-56 และ “ศีล 227” บาลีวันละคำ (555) 22-11-56)

ปลง + อาบัติ = ปลงอาบัติ

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ปลงอาบัติ : (คำกริยา) แสดงความผิดของตนเพื่อเปลื้องโทษทางวินัย (ใช้แก่พระภิกษุ).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ปลงอาบัติ : แสดงอาบัติเพื่อให้พ้นจากอาบัติ, ทำตนให้พ้นจากอาบัติด้วยการเปิดเผยอาบัติของตนแก่สงฆ์หรือแก่ภิกษุอื่น, แสดงความผิดของตนเพื่อเปลื้องโทษทางวินัย, ใช้สำหรับอาบัติที่แสดงแล้วพ้นได้ คือ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาสิต

ควรรู้ :

๑. พระสมัยก่อนท่านถือว่าการปลงอาบัติเป็นกิจวัตร 1 ใน 10 อย่างที่จะต้องทำทุกวัน

๒. เวลาที่นิยมปลงอาบัติคือ (1) หลังจากอนุโมทนายะถาสัพพีตอนฉันเช้าเสร็จ พระสมัยก่อนฉันรวมกันที่หอฉัน หอฉันจึงเป็นที่ชุมนุมกันอย่างเปิดเผย เหมาะที่จะปลงอาบัติ หรือ (2) ก่อนชุมนุมกันทำวัตรเช้าหรือทำวัตรเย็น และ (3) โดยเฉพาะวันทำอุโบสถสังฆกรรม (สวดพระปาติโมกข์) ถืออย่างเคร่งครัดว่าพระทุกรูปต้องปลงอาบัติก่อน

ควรเข้าใจให้ถูก :

๑. การปลงอาบัติเกิดจากการยอมรับว่าได้กระทำผิด แล้วเปิดเผยความผิดของตนต่อสมาชิกในสังคมเดียวกัน คือบอกให้พระด้วยกันรับรู้อย่างเปิดเผย ไม่ใช่ทำแบบงุบงิบ

๒. เนื้อแท้ของการปลงอาบัติ คือ ไม่ดื้อรั้นว่าตนบริสุทธิ์ หรือตนไม่ได้ทำผิด หากแต่เกิดความละอายใจที่จะอยู่อย่างดื้อด้าน หรือปกปิดความผิดของตนไม่ให้ใครรู้

๓ เจตนาของการปลงอาบัติ คือ เมื่อยอมรับว่าตนผิดแล้วก็ตั้งใจสำรวมระวังไม่ทำผิดอีก ดังคำสัญญาของผู้ปลงอาบัติในตอนท้ายของคำปลงอาบัติที่ว่า –

สาธุ  สุฏฺฐุ  ภนฺเต  สํวริสฺสามิ

ข้าพเจ้าจะระมัดระวังอย่างเข้มงวดกวดขัน (ความข้อนี้ย้ำ 3 ครั้ง)

น  ปุเนวํ  กริสฺสามิ

ข้าพเจ้าจะไม่ทำ (สิ่งที่ทำแล้วเป็นความผิด) อย่างนี้อีก

น  ปุเนวํ  ภาสิสฺสามิ

ข้าพเจ้าจะไม่พูด (สิ่งที่พูดแล้วเป็นความผิด) อย่างนี้อีก

น  ปุเนวํ  จินฺตยิสฺสามิ

ข้าพเจ้าจะไม่คิด (สิ่งที่คิดแล้วเป็นความผิด) อย่างนี้อีก

บัณฑิตพึงพิจารณาเทียบเคียงกันดูเถิดว่า การปลงอาบัติกับการสารภาพบาปของบางศาสนานั้นมีเจตนารมณ์ตรงกันหรือต่างกัน

………..

ในฐานะปุถุชน >

: การต้องอาบัติไม่ใช่เรื่องน่าอาย

: การไม่ปลงอาบัติต่างหากที่น่าอาย

—————

(อรรถาธิบายบางส่วนตามคำขอของ Shaophakhao Vs‎)

25-2-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย