อยู่อาศัยในอาศรม (บาลีวันละคำ 1,365)
อยู่อาศัยในอาศรม
เป็นข้อความตอนหนึ่งในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน เป็นคำที่อัจจุตฤๅษีเชิญชูชกให้พักค้างที่อาศรมบท (ดูเพิ่มเติมที่ภาพประกอบ)
(๑) “อาศัย”
บาลีเป็น “อาสย” (อา-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –
1) อา (ตัดมาจาก “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)
: อา + สิ = อาสิ + ณ = อาสิณ > อาสิ >อาเส > อาสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่มานอน” (2) “ฉันทะที่เป็นที่มานอนแห่งจิต”
2) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สิ (ธาตุ = ปรารถนา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)
: อา + สิ = อาสิ + ณ = อาสิณ > อาสิ >อาเส > อาสย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ปรารถนาอย่างยิ่งจะทำการ”
“อาสย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ที่อาศัย, ที่พัก, ที่รองรับ; ที่พึ่ง, ที่พำนัก, เครื่องค้ำจุน (abode, haunt, receptacle; dependence on, refuge, support, condition)
(2) ความโน้มเอียง, เจตนา, ความตั้งใจ, ความหวัง (inclination, intention, will, hope)
ในที่นี้ “อาสย” มีความหมายตามข้อ (1)
บาลี “อาสย” สันสกฤตเป็น “อาศย” และ “อาศฺรย” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) อาศย : (คำนาม) ความมุ่งหมาย; ใจอันเบิกบาน; ที่อาศรัย; ที่รองรับ; intention; free will or pleasure; an asylum; a receptacle or any recipient.
(2) อาศย : (คำนาม) กะเพาะอาหาร; ใจ; สมบัติ; คนตระหนี่; กุศล และ อกุศล; ต้นขนุน; the stomach; the mind; property; a miser; virtue and vice; the jack-fruit tree.
(3) อาศฺรย : (คำนาม) ที่อาศรัย; ผู้ปกครอง; มูล; บ่อเกิด; ท้องถิ่น; คำแก้ตัว, คำให้การแก้คดี; an asyium or refuge; a patron or protector; source; origin; viginity; an excuse, a plea.
(๒) “อาศรม”
บาลีเป็น “อสฺสม” (อัด-สะ-มะ) รากศัพท์มาจาก –
1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สม (ความสงบ), รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สม
: อา > อ + สฺ + สม = อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีความสงบรอบด้าน”
2) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อ ปัจจัย, รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สมฺ
: อา > อ + สฺ + สมฺ = อสฺสมฺ + อ = อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่ระงับความโกรธ” (2) “ที่ซึ่งกิเลสสงบได้อย่างดียิ่ง” (3) “ที่เป็นที่ระงับลงได้รอบด้านแห่งอันตรายที่บีบคั้นกายและจิต”
3) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สมฺ (ธาตุ = บำเพ็ญเพียร) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สมฺ
: อา > อ + สฺ + สมฺ = อสฺสมฺ + ณ = อสฺสมณ > อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญเพียรแรงกล้า”
“อสฺสม” ตามข้อ 1) และ 2) หมายถึง ที่อยู่ของผู้บำเพ็ญพรต (a hermitage) ตามข้อ 3) หมายถึง นักพรต, ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ (ascetic)
บาลี “อสฺสม” สันสกฤตเป็น “อาศฺรม” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อาศฺรม : (คำนาม) ‘อาศรม,’ ที่อาศรัยของปราชญ์; ที่อยู่ของฤษีหรืออริยทั้งหลาย; ป่า, โรงเรียน; คนจำพวกหนึ่งในสี่จำพวก คือ;- ๑. พรหมจารี หรือ พวกนักเรียน, ๒. พวกคฤหัสถ์, ๓. พวกวาณปรัสถ์, ๔. พวกภิกษุ; a hermitage, the abode of sages; the abode of rishis or saints; a wood or thicket; a college or school; a religious class of men, of which there are four classes, viz. 1st, the student of Brahmacāri, 2nd, the householder or Gṛihasth, 3rd, the anchorite or Vāṇaprastha, 4th, the mendicant or Bhikshu.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
อาศรม : ที่อยู่ของนักพรต; ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็นฮินดูแล้วได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็นขั้นหรือช่วงระยะ ๔ ขั้น หรือ ๔ ช่วง เรียกว่า อาศรม ๔ กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง ๔ อาศรมตามลำดับ (แต่ในทางปฏิบัติ น้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว) คือ
๑. พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์
๒. คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร
๓. วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร
๔. สันยาสี (เขียนเต็มเป็น สันนยาสี) เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่งผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก (ปราชญ์บางท่านว่าพราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น เช่น สันยาสี ตรงกับภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่)
อภิปราย :
๑ “อาสย” ในบาลีเป็นคำนาม เราเอามาใช้ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “อาศัย” ใช้โดดๆ เป็นคำกริยา ถ้าจะให้เป็นคำนามต้องเพิ่มคำนำหน้า เช่น “ที่พักอาศัย”
๒ ในสันสกฤต มีทั้งรูป “อาศย” และ “อาศฺรย”
๓ “อาศัย” ภาษาไทยในหนังสือเก่าเคยเขียนเป็น “อาศรัย” (ดูที่คำนิยามสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธานข้างต้นและดูภาพประกอบ) โดยอิงรูป “อาศฺรย” ของสันสกฤต บัดนี้ยุติแล้วว่าสะกดเป็น “อาศัย” ไม่ใช้ “อาศรัย”
: ถ้าใจสว่างทางสงบหมั่นอบรม
: ที่อาศัยก็กลายเป็นอาศรมอยู่ในตัวเอง
—————
(ตามคำปรารภของ Chakkris Uthayophas)
24-2-59