บาลีวันละคำ

สังคญาติ (บาลีวันละคำ 1,375)

สังคญาติ

มาจากไหน?

คำนี้อ่านว่า สัง-คะ-ยาด

คำที่แยกได้คือ สังค + ญาติ

(๑) “สังค

ในบาลีมีคำว่า “สงฺค” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สญฺชฺ (ธาตุ = เกี่ยวข้อง) + ปัจจัย, ลบ , ลบ ญฺ ที่ สญฺชฺ (สญฺช > สชฺ) แล้วลงนิคหิตอาคมแล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (สชฺ > สํชฺ > สงฺช), แปลง เป็น

: สญฺช + = สญฺชณ > สญฺช > สช > สํช > สงฺช > สงฺค แปลตามศัพท์ว่า  “การเกี่ยวข้อง” หมายถึง การยึดถือหรือเกาะติด, ตัณหา, การผูกมัด (cleaving, clinging, attachment, bond)

(๒) “ญาติ

บาลีอ่านว่า ยา-ติ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย

: ญา + ติ = ญาติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขารู้กันว่าเป็นใคร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ญาติ” ว่า a relation, relative (ญาติ, พี่น้อง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ญาติ, ญาติ– : (คำนาม) คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่. (ป.).”

ท่านว่า “ญาติ” มี 2 ประเภท คือ –

1 คนที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด คือ “ญาติสาโลหิต

2 คนที่รู้จักกัน ซึ่งอาจใช้คำเรียกว่า “ญาติมิตร

สงฺค + ญาติ = สงฺคญาติ > สังคญาติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคญาติ : (ภาษาปาก) (คำนาม) บรรดาญาติ, ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติกัน, เช่น คนทั้งหมู่บ้านล้วนเป็นสังคญาติกันทั้งนั้น.”

อภิปราย :

๑ พจน.54 บอกว่า “สังคญาติ” เป็นภาษาปาก คือภาษาที่ไม่เป็นทางการ หรือภาษาที่ไม่เหมาะจะใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงทางวิชาการ แต่ดูตามหลักภาษาแล้ว ทั้ง “สังค” ทั้ง “ญาติ” เป็นภาษาบาลีที่มีหลักฐานที่มา และแปลได้ความ คือแปลว่า “ญาติที่เกี่ยวข้องกัน” หรือแปลจากหน้าไปหลังก็ยังได้ความ คือแปลว่า “เกี่ยวข้องกันในฐานะเป็นญาติ

๒ ในภาษาไทยมีคำว่า “วงศาคณาญาติ” พจน.54 ให้คำนิยามสั้นๆ ว่า “ญาติพี่น้อง

ถ้าจะให้ “สังคญาติ” เป็นภาษาปากก็อาจจะต้องอธิบายว่า คำนี้เลือนมาจาก วงศาคณาญาติ นี่เอง คือ “วง” กับ “ณา” กร่อนหายไป เหลือแต่ “-ศาค-ญาติ” ออกเสียงว่า สา-คะ-ยาด แล้วก็เพี้ยนเป็น สัง-คะ-ยาด แล้วก็เลยเขียนเป็น “สังคญาติ” ถ้าอย่างนี้ “สังคญาติ” ก็พอจะเป็นภาษาปากของ “วงศาคณาญาติ” ได้ ตามที่ พจน.54 ว่าไว้

แต่จะเป็นเช่นว่านี้หรือเปล่า ก็ต้องขอแรงวงศาคณาญาติและสังคญาติช่วยกันสืบค้นต่อไป

……..

ดูก่อนภราดา!

ดังฤๅท่านจึงยังจะคิดทำร้าย เบียดเบียน เอาเปรียบ หรือแม้แต่เมินเฉยต่อทุกข์สุขของเพื่อนร่วมโลกอยู่อีกเล่า

เมื่อในสังสารวัฏอันหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่พบนี้ ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยเป็นสังคญาติกัน?

———-

(หยิบฉวยโดยวิสาสะมาจากคำของท่านอาจารย์ Chachapon Jayaphorn ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 4 มีนาคม 2559)

#บาลีวันละคำ (1,375)

5-3-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย