อิศวร (บาลีวันละคำ 1,376)
อิศวร
อ่านว่า อิ-สวน
“อิศวร” บาลีเป็น “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –
1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ
: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)
2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย
: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”
3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)
: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง
“อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)
(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)
“อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร-”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”
พจน.54 บอกว่า อิสฺสร > อิสระ ตรงกับสันสกฤตว่า “อีศฺวร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเปนเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป; ‘īśvara’ the supreme ruler of the universe, God; this word is applied to all the different divinities.”
พจน.54 เก็บคำว่า “อีศวร” ไว้ โดยบอกว่า อีศวร คือ “อิศวร” หมายความว่าคำหลักเขียนเป็น “อิศวร” แต่จะเขียนเป็น “อีศวร” ก็ได้ ถ้าเขียนเป็น “อีศวร” ก็ให้หมายถึง “อิศวร” นั่นเอง
ที่คำว่า “อิศวร” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“อิศวร : (คำนาม) ชื่อเรียกพระศิวะซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของพราหมณ์; ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส และแผลงเป็น เอศวร เช่น นเรศวร ราเมศวร, ใช้ย่อเป็น อิศร (อ่านว่า อิสวน) ก็มี เช่น ใยยกพระธำมรงค์ สำหรับองค์อิศรราช. (เพชรมงกุฎ). (ส. อีศฺวร).”
เพิ่มเติม :
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงเป็นต้นสกุล “ดิศกุล” ทรงมีพระนามเดิมว่า “ดิศวรกุมาร”
คำนี้เหมือนมี “อิศวร” อยู่ด้วย แต่ไม่ใช่ เพราะแยกเป็น ดิศ + วร + กุมาร
“ดิศ” ตรงกับชื่อที่นิยมตั้งกันในวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปเป็นบาลีว่า “ติสฺส” (ติด-สะ) ในคัมภีร์บาลีจะพบบุคคลชื่อ ติสสะ อยู่ทั่วไป
“ดิศวรกุมาร” อ่านว่า ดิด-สะ-วะ-ระ-กุ-มาน หรือ ดิด-สะ-วอ-ระ-กุ-มาน (ไม่ใช่ ดิ-สวน-กุ-มาน) แปลว่า กุมารชื่อดิศผู้ประเสริฐ
: ควบคุมจิตใจตัวเองได้ ก็เป็นผู้ประเสริฐได้
———–
(ฉลองศรัทธาของคุณ Angelina Wong)
6-3-59