สูติบัตร (บาลีวันละคำ 1,403)
สูติบัตร
อ่านว่า สู-ติ-บัด
ประกอบด้วย สูติ + บัตร
(๑) “สูติ” รากศัพท์มาจาก สู (ธาตุ = คลอดลูก) + ติ ปัจจัย
: สู + ติ = สูติ แปลตามศัพท์ว่า “การคลอดลูก” คือ การให้กำเนิด, การเกิด (bringing forth, birth)
ในภาษาไทยเอาคำว่า “สูติ” มาใช้ผสมกับคำอื่นอีกหลายคำ เช่น –
สูติกรรม : การทำคลอด.
สูตินรีเวช : วิชาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอด และโรคเฉพาะสตรี.
สูติแพทย์ : แพทย์ทำคลอดและรักษาโรคที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์.
สูติศาสตร์ : วิชาว่าด้วยการปฏิบัติรักษาเรื่องการตั้งครรภ์ การทำคลอด และภาวะหลังคลอด.
“สูติ” กับ “ปสูติ” (ประสูติ) เป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกัน
(๒) “บัตร”
บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ต ปัจจัย
: ปตฺ + ต = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้
“ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บัตร” แปลว่า ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป
เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺต – บัตร”
ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร
ถ้าใช้คำว่า “บัตร” นำหน้า คำตามหลังจะเป็นคำแสดงลักษณะของบัตรนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นคำบาลีสันสกฤต เช่น บัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรสนเท่ห์
สูติ + ปตฺต = สูติปตฺต > สูติปตฺร > สูติบัตร
สูติบัตร เป็นคำที่เราคิดขึ้นใช้ในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สูติบัตร : (คำนาม) เอกสารที่แสดงถึงสัญชาติ วัน เดือน ปี เวลา สถานที่เกิด และชื่อบิดามารดาของบุคคล โดยนายทะเบียนเป็นผู้ออกให้.”
คำว่า “สูติบัตร” มักมีผู้ใช้ไขว้เขวกับคำว่า “สูจิบัตร” ซึ่งเป็นคนละคำกัน
“สูติ-” ต เต่า แปลว่า การคลอด, การเกิด
“สูติบัตร” ภาษาอังกฤษใช้ว่า birth certificate
“สูจิ-” จ จาน แปลว่า เข็ม, เครื่องบ่งชี้
“สูจิบัตร” ภาษาอังกฤษใช้ว่า a printed program หรือ a written program
สองคำนี้มักมีผู้ใช้สับสนกันเนื่องจากตำแหน่งของเสียงตรงกัน (สู-ติ-บัด / สู-จิ-บัด) และเพราะไม่เข้าใจความหมายของศัพท์
: สูติบัตร คือใบเกิด
: จงรู้ไว้เถิดว่าคือใบสมัครตาย
4-4-59