กรรมสิทธิ์ (บาลีวันละคำ 1,402)
กรรมสิทธิ์
อ่านว่า กำ-มะ-สิด
ประกอบด้วย กรรม + สิทธิ์
(๑) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ) ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ก) และ ร ที่ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” หมายถึง การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)
“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
ใช้เดี่ยวๆ หรืออยู่ท้ายศัพท์ อ่านว่า กำ
ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นในคำว่า “กรรมสิทธิ์” นี้ อ่านว่า กำ-มะ-
(๒) “สิทธิ์”
“สิทธิ” บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ, อ่านว่า สิด-ทิ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ (สิธฺ > สิ)
: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ : สิ + ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ”
(2) ส (ตัดมาจาก “สห” = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อิทฺธิ
๑) “อิทฺธิ” รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ (อิธฺ > อิทฺธ)
: อิธฺ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ” หมายถึง ความสำเร็จ, ความเจริญ (ดูเพิ่มเติมที่ “อิทธิฤทธิ์” บาลีวันละคำ (1,294) 14-12-58)
๒) ส + อิทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นไปพร้อมกับความสำเร็จ”
“สิทฺธิ” นักเรียนบาลีแปลกันว่า ความสำเร็จ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สิทธิ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อํานาจที่จะกระทําการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย (อ. right)”
กมฺม + สิทฺธิ = กมฺมสิทฺธิ (กำ-มะ-สิด-ทิ) > กรรมสิทธิ์ (กำ-มะ-สิด)
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“กรรมสิทธิ์ : (คำนาม) ความเป็นเจ้าของทรัพย์; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) สิทธิทั้งปวงที่ผู้เป็นเจ้าของมีอยู่เหนือทรัพย์สิน อันได้แก่ สิทธิใช้สอย จําหน่าย ได้ดอกผล ติดตามและเอาคืน รวมทั้งขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย. (ส. กรฺม + สิทฺธิ = ความสำเร็จ; ป. กมฺมสิทฺธิ).
อภิปราย :
๑ คำว่า “กมฺมสิทฺธิ” ในภาษาบาลีแปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จแห่งกรรม” หมายถึง (1) ความสำเร็จแห่งกิจการงาน คือทำงานสำเร็จ (2) สิ่งที่ได้มาหรือเกิดขึ้นจากการทำกิจการงาน
๒ จากความหมายนี้ ลากเข้าหาธรรมต่อไปว่า ผู้ที่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิ่งใดๆ ก็คือผู้ที่ได้ลงมือลงแรงสร้างสรรค์สิ่งนั้นๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง กล่าวสั้นๆ ว่า อยากได้ก็ทำเอา หรือทำอย่างใดก็ได้อย่างนั้น
: ความสำเร็จในชีวิตเป็นกรรมสิทธิ์ของกรรม
: คือสำเร็จได้ด้วยการกระทำ ไม่ใช่ด้วยการอ้อนวอนขอ
3-4-59