อาชาไนย (บาลีวันละคำ 1,418)
อาชาไนย
อ่านว่า อา-ชา-ไน
“อาชาไนย” บาลีเป็น “อาชานีย” (อา-ชา-นี-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + ญา (ธาตุ = รู้แจ้ง) + อนีย ปัจจัย, แปลง ญา เป็น ชา
: อา + ญา = อาญา + อนีย= อาญานีย > อาชานีย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้แจ้งซึ่งเหตุและมิใช่เหตุได้ดี” คือสามารถฝึกให้รู้ได้อย่างดี
ตามคำแปลนี้ “อาชานีย” เป็นคำคุณศัพท์ ถ้าแสดงลักษณะของบุคคล ก็หมายถึงคนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาแล้วอย่างดีเลิศ มีสติปัญญารู้เหตุผล สามารถตัดสินใจกระทำการต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว
ถ้าแสดงลักษณะของสัตว์ ก็หมายถึงสัตว์ชนิดที่สามารถฝึกให้ใช้งานได้ เช่นช้างหรือม้าเป็นต้น และได้ถูกฝึกมาแล้วโดยครูฝึกชั้นยอด จนสามารถบังคับควบคุมให้ทำงานตามที่ฝึกมาได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เช่นช้างศึก ม้าศึก ที่ผ่านสงครามมาแล้วอย่างโชกโชน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “อาชานิย” และแสดงความเห็นไว้ว่า –
.. of good race or breed; almost exclusively used to denote a thoroughbred horse. (มีกำเนิด หรือเผ่าพันธุ์ดี; โดยมากที่สุดใช้แสดงถึงม้าพันธุ์ดีแทบทั้งนั้น)
“อาชานีย” ในภาษาไทยใช้เป็น “อาชาไนย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาชาไนย : (คำวิเศษณ์) กําเนิดดี, พันธุ์หรือตระกูลดี; รู้รวดเร็ว, ฝึกหัดมาดีแล้ว, ถ้าเป็นม้าที่ฝึกหัดมาดีแล้ว เรียก ม้าอาชาไนย, ถ้าเป็นคนที่ฝึกหัดมาดีแล้ว เรียกว่า บุรุษอาชาไนย. (ป. อาชาเนยฺย; ส. อาชาเนย).”
ในภาษาไทย คำว่า “อาชาไนย” มักเข้าใจกันในความหมายว่าม้าที่ถูกฝึกมาเป็นอย่างดี จนกระทั่งพูดตัดคำเป็น “อาชา” และแปลว่า ม้า โดยเฉพาะไปเลย
อนึ่ง ในภาษาบาลี “อาชานีย” มีรูปศัพท์เป็น “อาชานิย” และ “อาชาเนยฺย” ก็มี
ดูก่อนภราดา!
: ช้างม้าที่ถูกฝึกยังทำศึกได้ถึงที่สุด
: แล้วตัวเราเป็นมนุษย์ดังฤๅจะมิกล้าทำความดี
19-4-59