บาลีวันละคำ

ยาคู ไม่ใช่ข้าวต้ม (บาลีวันละคำ 1,417)

ยาคู

ไม่ใช่ข้าวต้มแบบอาหารไทย

คำว่า “ยาคู” ภาษาบาลีเป็น “ยาคุ” ( –คุ สระ อุ) นักเรียนบาลีในเมืองไทยแปลกันว่า “ข้าวต้ม” และมักนึกไปถึงข้าวต้มแบบอาหารไทย

ข้าวต้ม” ในภาษาไทยหมายถึงอะไร-อย่างไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ข้าวต้ม ๑ : (คำนาม) ข้าวที่ต้มให้สุก; ข้าวเหนียวที่ห่อด้วยใบไม้เช่นใบตองหรือใบมะพร้าวอ่อน แล้วต้มหรือนึ่งให้สุก อยู่ในจำพวกขนมมีชื่อต่าง ๆ เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวต้มผัด.

(2) ข้าวต้มกุ๊ย : (คำนาม) ข้าวต้ม กินกับกับข้าวเช่นเกี่ยมฉ่าย ไข่เค็ม.

(3) ข้าวต้มเครื่อง : (คำนาม) ข้าวต้มที่ใส่เนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ กุ้ง.

ยาคุ” ในบาลีรากศัพท์มาจาก –

(1) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + คุ ปัจจัย

: ยา + คุ = ยาคุ แปลตามศัพท์ว่า “ของกินที่เป็นไปตามปกติ

(2) ยุ (ธาตุ = ปะปน, ผสม) + คุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ เป็น อา (ยุ > ยา)

: ยุ + คุ = ยุคุ > ยาคุ แปลตามศัพท์ว่า “ของกินที่ผสมกัน

(3) ยชฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(ชฺ) เป็น อา (ยชฺ > ยาชฺ), แปลง ชฺ ที่ ยชฺ เป็น , แปลง ที่ เป็น อุ

: ยชฺ + = ยชณ > ยช > ยาช > ยาค > ยาคุ แปลตามศัพท์ว่า “ของกินที่ทำความไม่มีโรค

พจนานุกรมแปล “ยาคุ” ว่ากระไร ?

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยาคุ” ว่า rice-gruel, rice-milk [to drink] (ข้าวต้ม, นมข้าว [สำหรับดื่ม])

ยาคุ สันสกฤตเป็น “ยวาคู” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ยวาคู : (คำนาม) ข้าวยาคู; gruel.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล gruel ว่า ข้าวต้ม, โจ๊ก

SE-ED’S MODERN ENGLISH – THAI DICTIONARY ของ วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม แปล gruel ว่า ข้าวโอตต้มในน้ำหรือนม, ข้าวต้ม, โจ๊ก

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ยาคู : ข้าวต้ม, เป็นอาหารเบาสำหรับฉันรองท้องก่อนถึงเวลาฉันอาหารหนัก เป็นของเหลว ดื่มได้ ซดได้ ไม่ใช่ของฉันให้อิ่ม เช่น ภิกษุดื่มยาคูก่อนแล้วไปบิณฑบาต ยาคูสามัญอย่างนี้ ที่จริงจะแปลว่าข้าวต้มหาถูกแท้ไม่ แต่แปลกันมาอย่างนั้นพอให้เข้าใจง่ายๆ ข้าวต้มที่ฉันเป็นอาหารมื้อหนึ่งได้อย่างที่ฉันกันอยู่โดยมากมีชื่อเรียกต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งว่า โภชชยาคู.

………

สรุปว่า ยาคุ > ยาคู ไม่ใช่ “ข้าวต้ม” ตามวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยอย่างแน่นอน (ดูความหมายของ ข้าวต้ม จาก พจน.54 ข้างต้น)

ข้อที่ยืนยันได้อีกอย่างหนึ่งคือ กิริยาที่ทำกับ “ยาคุ” นั้น บาลีใช้ “ปี” ธาตุ (ซึ่งแผลงต่อไปเป็น “ปิวฺ” รูปสำเร็จเป็น ปิวติ, ปิวิตฺวา เป็นต้น) เสมอ

ปี > ปิวฺ แปลว่า “ดื่ม” คือ ดื่มยาคู เช่นเดียวกับดื่มน้ำ หรือดื่มนม ดื่มกาแฟ ไม่มีที่ใช้คำกิริยาเป็น “ภุญฺชติ” = กินยาคู เหมือนกินอาหารทั่วไป (ดูคำแปลของ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ข้างต้น)

ตามวัฒนธรรมทางภาษาเกี่ยวกับการกินของไทย เราพูดว่า “กินข้าวต้ม” ไม่ใช่ “ดื่มข้าวต้ม”

เพราะฉะนั้น “ยาคุ > ยาคู” จึงไม่ใช่ “ข้าวต้ม” แบบอาหารไทย แต่เป็นเครื่องดื่มรองท้องตามวัฒนธรรมการกินของชาวชมพูทวีป ถ้าจะเทียบก็น่าจะเหมือนกับที่บางคนตอนเช้ากินกาแฟก่อน แล้วอีกสักพักหนึ่งจึงกินข้าว-ประมาณนั้น

: การยอมรับผิดนั้นอาจทำรู้สึกว่าเสียเกียรติ-เพียงครู่เดียว

: แต่จะได้รับเกียรติจากสังคมไปยาวนาน

18-4-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย