พิปลาส (บาลีวันละคำ 1,427)
พิปลาส
อ่านว่า พิ-ปะ-ลาด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิปลาส : (คำวิเศษณ์) วิปลาส. (ป. วิปลฺลาส; ส. วิปรฺยาส ว่า ความคลาดเคลื่อน).”
“พิปลาส” แผลงมาจาก “วิปลาส”
“วิปลาส” บาลีเป็น “วิปลฺลาส” (วิ-ปัน-ลา-สะ, ไทย-วิ-ปะ-, บาลี-วิ-ปลฺ-)
“วิปลฺลาส” รากศัพท์มาจาก วิ (= พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปริ (= รอบ) + อสฺ (ธาตุ = ซัด, ขว้างไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ อ-(สุ) เป็น อา (อสฺ > อาสุ), แปลง อิ ที่ (ป)-ริ เป็น ย, แผลง ร เป็น ล, ลฺย เป็น ล, ซ้อน ล
: วิ + ปริ > วิปรฺย > วิปลฺย > วิปล > วิปลฺล + อส + ณ = วิปลฺลสณ > วิปลฺลส > วิปลฺลาส แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ขว้างไปผิด” หมายถึง การกลับกัน, ความวิปลาส, ความเปลี่ยนแปลง (ในทางไม่ดี), ความตรงกันข้าม, ความวิปริต, การทำให้ยุ่งเหยิง, ความเสียหาย, ความผิดเพี้ยน (reversal, change [esp. in a bad sense], inversion, perversion, derangement, corruption, distortion)
บาลี “วิปลฺลาส” สันสกฤตเป็น “วิปรฺยาส”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิปรฺยาส : (คำนาม) ‘วิบรรยาส,’ ไวปรีตย์, ความวิปริต, วิปักษตา; วิการ, ปริณาม, หรือความวิบัท; การคิดเห็นสิ่งที่ผิดเปนชอบหรือเห็นเท็จเปนจริง; contrariety, opposition; reverse; imagining what is unreal or false to be real or true.”
“วิปลฺลาส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิปลาส” (อ่านว่า วิ-ปะ-ลาด ก็ได้ วิบ-ปะ-ลาด ก็ได้ ตาม พจน.54)
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“วิปลาส : (คำกริยา) คลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เช่น สติวิปลาส ตัวอักษรวิปลาส สัญญาวิปลาส. (ป. วิปลฺลาส, วิปริยาส; ส. วิปรฺยาส).
ในทางธรรม วิปลาส หมายถึงกิริยาที่ยึดถือโดยอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง ท่านแจงไว้เป็น 3 อย่าง คือ –
1. สัญญาวิปลาส – สำคัญผิด
2. จิตวิปลาส – คิดผิด
3. ทิฐิวิปลาส – เห็นผิด
วิปลาสแต่ละอย่างเป็นไปใน 4 เรื่อง คือ –
1. เห็นสิ่งแปรปรวนเป็นสิ่งยั่งยืน
2. เห็นทุกข์เป็นสุข
3. เห็นว่าชีวิตมีตัวแท้อมตะ
4. เห็นสิ่งไม่งามเป็นงาม
: วิปลาสที่น่ากลัว คือไม่รู้ตัวว่าวิปลาส
28-4-59