บาลีวันละคำ

ตรีทศเทพ (บาลีวันละคำ 1,433)

ตรีทศเทพ

อ่านว่า ตฺรี-ทด-สะ-เทบ

ประกอบด้วย ตรีทศ + เทพ

(๑) “ตรีทศ

บาลีเป็น “ติทส” (ติ-ทะ-สะ) รากศัพท์มาจาก ติ (สาม) + ทส (ข้อกำหนด, ขอบเขต)

: ติ + ทส = ติทส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีข้อกำหนดสามประการ” หรือ “แดนที่มีข้อกำหนดสามประการ” หมายถึง เทวดา หรือสวรรค์

เทวดามีสภาวะหรือ “ข้อกำหนด” 3 ประการ คือ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และ ดับไป เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นรูปเทวดาทันที ในระหว่างที่ดำรงอยู่ก็ไม่แก่ ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อดับไปคือจุติก็หายไปทันที

ความหมายดังกล่าวนี้สอดคล้องกับสันสกฤต

ติทส” ในบาลี เป็น “ตฺริทศ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตฺริทศ : (คำนาม) ‘ตริทศ, ไตรทศ,’ เทพดา, อมร, ผู้ไม่ตาย; a god, a deity, an immortal; – (คำคุณศัพท์) เสพทศาหรือภาวะที่สาม, คือเสพนิตยเยาวนํ; ขึ้นแก่ภาวะสาม, คือสัมภวะ, ภาวะ, และมรณะ; enjoying the third condition, viz. that of perpetual youth; subject to the three conditions, viz. of birth, being, and destruetion.”

ติทส > ตฺริทศ ในภาษาไทยใช้เป็น “ตรีทศ” และ “ไตรทศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ตรีทศ : (คำนาม) เทวดา ๓๓ องค์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มิได้แยกว่าใครเป็นใคร หมายถึง พระอินทร์และบริวารพระอินทร์ ๓๒ องค์, ไตรทศ ก็เรียก. (ส. ตฺริทศ ว่า สามสิบ).

(2) ไตรทศ : (คำนาม) เทวดา ๓๓ องค์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม่แยกว่าใครเป็นใคร หมายถึง พระอินทร์และบริวารพระอินทร์อีก ๓๒ องค์, ตรีทศ ก็ว่า.

(๒) “เทพ

บาลีเป็น “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วุ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลิน หมายถึง เทวดา

ติทส + เทว = ติทสเทว = ตรีทศเทพ แปลตามศัพท์ว่า “เทวดาชั้นไตรทศ

อภิปราย:

๑. “ติทส” ตามศัพท์แปลว่า “สามสิบ” (จำนวน 30) ก็ได้ มีคำอธิบายว่า คำนี้มีความหมายเท่ากับ “ตาวตึส” ที่แปลว่า “สามสิบสาม” หรือ “ดาวดึงส์” นั่นเอง

๒. ที่มาของตัวเลข 30 หรือ 33 ก็คือจำนวนเทวดาที่เมื่อเป็นมนุษย์ได้ทำกุศลกรรมร่วมกันแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ ตัวเลข 30-33 นี้เป็นจำนวนโดยประมาณ

๓. เมื่อเรียกเทวดาเหล่านั้นว่า “ติทสเทว” = ตรีทศเทพ ซึ่งหมายถึง “พวกเทวดาสามสิบ” นานเข้าความหมายก็กลายไปเป็นหมายถึง “เทวดา” ทั่วไป และหมายถึง “สวรรค์” ไปโดยปริยาย

๔. ชื่อวัด “ตรีทศเทพ” พระอารามหลวงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็น่าจะเป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องคำว่า ติทสเทว > ตฺริทศเทว นี้เอง

: ผู้ที่ตัดสินใจลงมือทำความดีได้เข้าถึงสวรรค์ไปแล้วนับไม่ถ้วน

: ในขณะที่คนอีกจำนวนมากยังถกเถียงกันไม่เสร็จว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่

————

(ตามข้อสงสัยของ Kanit Viseshasinha)

4-5-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย