พิการ (บาลีวันละคำ 1,437)
พิการ
อ่านว่า พิ-กาน
“พิการ” บาลีเป็น “วิการ” อ่านว่า วิ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)
: วิ + กรฺ = วิกรฺ + ณ = วิกรณ > วิกร > วิการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้แปลกไปเป็นอย่างอื่น”
นักเรียนบาลีจะคุ้นกับคำว่า “วิการ” ในความหมาย 2 อย่าง คือ –
๑ แผลงหรือแปลง เช่น (1) “วิการ อิ เป็น เอ” คือแผลง อิ เป็น เอ เช่น ปรมินทร์ > ปรเมนทร์ (2) “วิการ ว เป็น พ” คือแปลง ว เป็น พ เช่น วิการ > พิการ
๒ เรียกของที่ทำด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น “สร้อยคออันเป็นวิการแห่งทอง” หมายถึง สร้อยคอที่ทำด้วยทอง
“วิการ” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง ดังนี้ –
(1) การเปลี่ยนแปลง, การแปรผัน (change, alteration)
(2) การผิดรูป, การหันกลับ, การบิดเบี้ยว (distortion, reversion, contortion)
(3) การทำให้กระวนกระวาย, การรบกวน, ความไม่สะดวก, การทำให้ผิดปกติ (perturbation, disturbance, inconvenience, deformity)
(4) ร่างกาย, คุณสมบัติ, คุณลักษณะ (constitution, property, quality)
(5) การหลอกลวง, การฉ้อฉล (deception, fraud)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “วิการ” ไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิการ : (คำนาม) การเปลี่ยนรูปหรือประกฤติ, การบิดเชือนจากประกฤติภาพ; พยาธิ, โรค; ราคะ; รส; วิกฤติหรืออภาวะ; change of form or nature, deviation from the natural state; sickness, disease; passion, feeling, emotion.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิการ : (คำวิเศษณ์) พิการ, ที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ วิกล เป็น วิกลวิการ. (คำนาม) ความผันแปร. (ป., ส.).”
ในภาษาไทยเมื่อแผลง ว เป็น พ : วิการ > พิการ มีความหมายเฉพาะเป็นอีกอย่างหนึ่ง
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“พิการ : (คำวิเศษณ์) เสียอวัยวะมีแขนขาเป็นต้น, เสียไปจากสภาพเดิม, เช่น แขนพิการ ตาพิการ, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ พิกล เป็น พิกลพิการ. (ป., ส. วิการ).”
………
เรื่องพิกลของคนพิการ >
: แม้กายจะพิการ ก็ยังปฏิบัติธรรมให้ถึงสวรรค์นิพพานได้แม้จะไกลแสนไกล
: แต่ถ้าใจพิการ เอาบุญมาบอกถึงในบ้านก็ลุกขึ้นทำไม่ไหว
8-5-59