เจ้านาค (บาลีวันละคำ 1,436)
เจ้านาค
ทำไมจึงเรียกผู้จะบวชพระว่า นาค ?
“นาค” ไทยอ่านว่า นาก บาลีอ่านว่า นา-คะ รากศัพท์มาจาก –
(๑) นค (ภูเขา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ น-(ค) เป็น อา (นค > นาค)
: นค + ณ = นคณ > นค > นาค แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” หมายถึง ช้าง
(๒) น (ไม่, ไม่ใช่) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ น เป็น อา (น > นา), ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ
: น + คมฺ + กฺวิ = นคมกฺวิ > นาคมกฺวิ > นาคม > นาค แปลตามศัพท์ว่า (1) “สัตว์ที่ไม่ไปด้วยเท้า” หมายถึง งู (2) “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” หมายถึง ไม้นาคะ คือไม้กากะทิง
(๓) น (ไม่, ไม่ใช่) + อคฺค (เลิศ, ยอดเยี่ยม), ลบ คฺ ออกตัวหนึ่ง, ทีฆะ อะ ที่ อ-(คฺค) เป็น อา (อคฺค > อาคฺค)
: น + อคฺค = นคฺค > นค > นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” หมายถึง ผู้เลิศที่สุด, พระอรหันต์
(๔) น (ไม่, ไม่ใช่) + อาคุ (บาป, ความชั่ว, ความผิด) + อ ปัจจัย, ลบ อุ ที่ (อา)-คุ (อาคุ > อาค)
: น + อาคุ = นาคุ > นาค + อ = นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่ทำบาปกรรม” “ผู้ไม่มีความผิด” หมายถึง บุคคลที่มุ่งมั่นจะทำความดี
สรุปว่า “นาค” หมายถึง (1) ช้าง (2) งู (3) ไม้กากะทิง (4) พระอรหันต์ (5) สาธุชนคนดี
ในภาษาไทย “นาค” ใช้ในความหมายหลายอย่าง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) นาค ๑ : งูใหญ่มีหงอน เป็นสัตว์ในนิยาย. (ป., ส.).
(2) นาค ๒ : ชื่อชนเผ่าหนึ่งอยู่ในบริเวณเทือกเขานาค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า มีหลายสาขา เช่น อาโอนาค กูกินาค.
(3) นาค ๓ : (คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) ช้าง. (ป.).
(4) นาค ๔ : (คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) ไม้กากะทิง. (ป.).
(5) นาค ๕ : (คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) ผู้ประเสริฐ, ผู้ไม่ทําบาป; เรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวช. (ป., ส.).
ทำไมจึงเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า นาค ?
การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช ตอนสวดกรรมวาจาจะต้องระบุชื่อพระอุปัชฌาย์และชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี (ที่เรียกว่า “ฉายา” – ดูคำนี้) ในยุคแรกๆ ที่พระอุปัชฌาย์และพระคู่สวดยังไม่สันทัดภาษาบาลีมักสมมุติชื่อพระอุปัชฌาย์ว่า “ติสฺโส” และสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” ทุกคน (ปัจจุบันชื่อผู้บวชตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ) ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในเวลาสวดกรรมวาจา เพราะไม่ต้องเปลี่ยนวิภัตติปัจจัยในคำสวดไปเป็นคำอื่นๆ
การสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” เช่นนี้เป็นที่ขึ้นใจกันทั่วไป คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” และเรียกตามสำนวนนิยมของภาษาไทยว่า “เจ้านาค” (ทำนองเดียวกับคำว่า “เจ้าบ่าว” “เจ้าสาว”) มาจนทุกวันนี้
: เจ้านาค คือผู้ที่ตีตั๋วไปพระนิพพาน
: แต่พอบวชนานๆ มักกลายเป็นพนักงานจำหน่ายตั๋ว
————-
(จ่ายหนี้บางส่วนที่ค้างชำระ (จนเจ้าหนี้ลืม) ให้ Kritsada Pantaewan)
7-5-59