บาลีวันละคำ

กสิกร – เกษตรกร (บาลีวันละคำ 1,438)

กสิกรเกษตรกร

ต่างกันอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) กสิกร (กะ-สิ-กอน) : (คำนาม) ผู้ทำไร่ไถนา, ผู้ทำการเพาะปลูก.

(2) เกษตรกร (กะ-เสด-ตฺระ-กอน): (คำนาม) ผู้ทำเกษตรกรรม. (ส.).

(เกษตรกรรม : การใช้ที่ดินเพาะปลูกพืชต่าง ๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ การประมง และการป่าไม้.-พจน.54).

(๑) “กสิกร” ประกอบด้วย กสิ + กร

กสิ” รากศัพท์มาจาก กสฺ (ธาตุ = ไถ) + อิ ปัจจัย

: กสฺ + อิ = กสิ แปลตามศัพท์ว่า “การไถ” หมายถึง การขุดหรือพรวนดิน, การไถ, กสิกรรม, การเพาะปลูก (tilling, ploughing; agriculture, cultivation)

(๒) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

(๓) “เกษตรกร” ประกอบด้วย เกษตร + กร

เกษตร” บาลีเป็น “เขตฺต” (เขด-ตะ) รากศัพท์มาจาก :

(1) ขิปฺ (ธาตุ = หว่าน, กระจายออก) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ, ลบ ปฺ ที่สุดธาตุ, ซ้อน

: ขิปฺ > เขป + = เขปต > เขต + = เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หว่านพืช

(2) ขิตฺต (เมล็ดพืชที่หว่านไป) + ตา (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ตฺต) เป็น เอ, ลบ ที่ (ขิตฺ)- (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบที่สุดบทหน้า”), ลบสระที่สุดธาตุ (ตา > )

: ขิตฺต + ตา = ขิตฺตตา > ขิตฺตต + = ขิตฺตต > ขิตฺต > เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่รักษาพืชที่หว่านไว้

เขตฺต” หมายถึง :

(1) นา, ที่ดินแปลงหนึ่ง, ที่ดินอันเหมาะสมแก่การเพาะปลูก, ที่ตั้ง (a field, a plot of land, arable land, a site)

(2) ที่อันเป็นเนื้อนาบุญ, กองแห่งกุศลกรรม (the soil of merit, the deposit of good deeds)

เขตฺต” สันสกฤตเป็น “เกฺษตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เกฺษตฺร : (คำนาม) ‘เกษตร์,’ ทุ่ง, นา; ตัว, ร่างกาย; ชายา; บุณยสถานหรือที่ศักดิ์สิทธิ์ (ดุจพาราณสี, ฯลฯ); เรขาคณิต; จิตร์หรือรูปเส้นขอบ, รูปสังเขป, แผนเส้นขอบ; a field; the body; a wife; a place of pilgrimage or sacred spot (as Benares, &c.); geometry; a diagram, a plan drawn in outline.”

เกฺษตฺร ภาษาไทยใช้เป็น “เกษตร” (กะ-เสด)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

เกษตร : (คำนาม) ที่ดิน, ทุ่ง, นา, ไร่; (คำโบราณ) แดน เช่น พุทธเกษตร. (ส. เกฺษตฺร; ป. เขตฺต).”

กสิ + กร = กสิกร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำการไถ

เกษตร + กร = เกษตรกร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำ (กิจที่ควรทำ) ในนา

อภิปราย :

กสิกร” แปลเท่าตาเห็นว่า “ผู้ทำการไถ” ตีความตามตัวหนังสือหมายความว่า ทำเฉพาะหน้าที่พลิกฟื้นหน้าดินอย่างเดียว ไม่ทำอย่างอื่นเช่น หว่าน ดำ หรือเก็บเกี่ยวเป็นต้น

เกษตรกร” แปลเท่าตาเห็นว่า “ผู้ทำนา” คำนี้ตรงกับคำไทยว่า “ทำนา” พอดี ไม่ได้หมายความว่าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดเป็น “นา” ขึ้นมา เพราะนามีอยู่แล้ว แต่หมายถึงถึงทำกิจอันจะต้องทำทั้งปวงในกระบวนการของการทำนา ตั้งแต่แผ้วถางที่ดิน การไถ การหว่าน ดำ เพาะ ปลูก การดูแล ไปจนถึงเก็บเกี่ยว

ในภาษาบาลี ถ้าหมายถึงทำอาชีพเกษตรกรรม ใช้ศัพท์ว่า “กสิกมฺม” (กะ-สิ-กำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “งานคือการไถ

กสิกมฺม” เป็นคำเดียวกับ “กสิกรรม” ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

กสิกรรม : (คำนาม) การทำไร่ไถนา, การเพาะปลูก.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กสิกมฺม” ว่า the act or occupation of ploughing, agriculture (การทำนา, อาชีพทำนา, กสิกรรม)

คำว่า “เกษตรกรรม” แปลกลับเป็นบาลีว่า “เขตฺตกมฺม” (เขด-ตะ-กำ-มะ) ในบาลีมีศัพท์ว่า “เขตฺตกมฺมนฺต” (เขด-ตะ-กำ-มัน-ตะ) แปลว่า “การงานในนา” (work in the field)

สรุปว่า –

(1) “กสิกร” และ “เกษตรกร” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ในภาษาไทย มีความหมายใกล้เคียงกัน

(2) ยังไม่พบคำว่า “กสิกร” หรือ “เขตฺตกร” ( = เกษตรกร) ในคัมภีร์

(3) บาลีมีศัพท์ว่า “กสิกมฺม” และ “เขตฺตกมฺมนฺต” เทียบได้กับคำว่า “กสิกรรม” และ “เกษตรกรรม” ในภาษาไทย

: ไถนาอยู่กลางแสงอาทิตย์

: เย็นสบายกว่าวางแผนทุจริตอยู่ในห้องแอร์

9-5-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย