สุภาพบุรุษ (บาลีวันละคำ 1,454)
สุภาพบุรุษ
อ่านว่า สุ-พาบ-บุ-หฺรุด
ประกอบด้วย สุภาพ + บุรุษ
(๑) “สุภาพ”
แปลงกลับเป็นบาลีว่า “สุภาว” (สุ-พา-วะ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย, สะดวก) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว
: สุ + ภู = สุภู + ณ = สุภูณ > สุภู > สุโภ > สุภาว แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ดีงาม”
สุภาว แปลง ว เป็น พ : สุภาว > สุภาพ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุภาพ : (คำวิเศษณ์) เรียบร้อย เช่น เขาแต่งกายสุภาพตามกาลเทศะและความนิยม, อ่อนโยน, ละมุนละม่อม, เช่น เขาพูดด้วยน้ำเสียงสุภาพ ไม่กระโชกโฮกฮาก.”
“สุภาพ” เป็นบาลีไทย คือรูปคำเป็นบาลี แต่ความหมายเป็นของไทยคิดขึ้นเอง ความหมายตามภาษาไทยนี้ บาลีไม่ได้ใช้คำว่า “สุภาว” แต่ใช้คำว่า “อาจารสีลี” หรือ “อาจารสมฺปนฺน” (มีกิริยามารยาทเรียบร้อย) หรือ “สุสีล” (ความประพฤติเรียบร้อยงดงาม)
(๒) “บุรุษ”
บาลีเป็น “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุร (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย
: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(2) ปุ ( = นรก) + ริส (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด)
: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”
(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่)
: ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า
(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป)
: ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า
(5) ป ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน)
: ป + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”
“ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ”
ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“บุรุษ : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ.”
พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้
สุภาพ + บุรุษ = สุภาพบุรุษ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุภาพบุรุษ : (คำนาม) ชายที่มีกิริยาวาจาเรียบร้อย รู้กาลเทศะ และมีคุณธรรม เช่น เขาช่วยเหลือเธอตามหน้าที่สุภาพบุรุษ.”
เป็นที่เข้าใจกันว่า “สุภาพบุรุษ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า gentleman
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล gentleman เป็นบาลีว่า –
(1) ayya อยฺย (ไอ-ยะ) = เจ้านาย, สุภาพบุรุษ, ผู้ทรงเกียรติ
(2) arya อริย (อะ-ริ-ยะ) = ผู้เจริญ
(3) mahāsaya มหาสย (มะ-หา-สะ-ยะ) = ผู้มีอัธยาศัย, ผู้มีใจอารี
คำว่า “สุภาพบุรุษ” ยังมีความหมายโดยนัยถึงการรู้จักรับผิดชอบ พูดจริงทำจริง มีสัจจะ ดังคำว่า “สัญญาสุภาพบุรุษ” คือรักษาสัญญาโดยไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับ หรือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนอย่างซื่อตรงแม้จะไม่มีใครสั่งหรือจับจ้องอยู่ก็ตาม
: ทำผิดแล้วยอมรับผิด
: เป็นศักดิ์ศรีที่ศักดิ์สิทธิ์ของสุภาพบุรุษ
26-5-59