บาลีวันละคำ

ต้นโพไม่ใช่ต้นโพธิ์ (บาลีวันละคำ 1,461)

 “ต้นโพ” ไม่ใช่ “ต้นโพธิ์

แต่ “ต้นโพ” เป็น “ต้นโพธิ์

คำว่า “โพธิ์” บาลีเป็น “โพธิ” อ่านว่า โพ-ทิ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)

: พุธฺ + อิ = พุธิ > โพธิ แปลตามศัพทว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “สิ่งเป็นเหตุรู้” (3) “ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้

ความหมายของ “โพธิ” ในบาลี –

(1) ความรู้อันยอดเยี่ยม, การตรัสรู้, ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงมี (supreme knowledge, enlightenment, the knowledge possessed by a Buddha)

(2) ต้นไม้ตรัสรู้, ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์, ต้นไม้จำพวกไทร (อสฺสตฺถ, ต้นอสัตถพฤกษ์) ซึ่งพระโคดมพุทธเจ้าบรรลุพระโพธิญาณ (the tree of wisdom, the sacred Bo tree, the fig tree (Assattha, Ficus religiosa) under which Gotama Buddha arrived at perfect knowledge)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำที่ออกเสียงว่า “โพ” 2 คำ คือ “โพ ๑” และ “โพธิ์” บอกไว้ดังนี้ –

(1) โพ ๑ : (คำนาม) ชื่อไม้ต้นชนิด Ficus religiosa L. ในวงศ์ Moraceae เป็นต้น ไม้ซึ่งเป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ใบรูปหัวใจ ปลายยาวคล้ายหาง ผลกินได้ ใบอ่อนและผลใช้ทำยาได้, โพศรีมหาโพธิ ก็เรียก.

(2) โพธิ-, โพธิ์ : (คำนาม) ความตรัสรู้; ชื่อต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, บัดนี้หมายถึงต้นไม้จําพวกโพ. (ป., ส.).

บทนิยามของพจนากรมชวนให้มึนงงว่า ชื่อต้นไม้ชนิดนี้เขียนว่า “ต้นโพ” หรือ “ต้นโพธิ์” กันแน่

คำตอบคือ ต้นไม้ชนิดนี้ในภาษาไทยเรียกว่า “ต้นโพ” (ไม่มี –ธิ์)

แต่ต้นโพนี้เป็น “ต้นโพธิ์” (มี –ธิ์, อ่านว่า ต้น-โพ) หมายความว่าเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งภายใต้แล้วได้ตรัสรู้

ถ้าจับหลักได้ก็ไม่ต้องงง :

๑. พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้เมื่อประทับนั่งใต้ต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นไม้นั้นก็ได้นามเรียกว่า โพธิรุกฺข > โพธิพฤกษ์ > ต้นโพธิ์ เช่น ประทับนั่งใต้ต้นกากะทิงแล้วตรัสรู้ ต้นกากะทิงก็เป็น “ต้นโพธิ์

๒. พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ประทับนั่งใต้ต้น “อัสสัตถะ” (ชื่อบาลี) ต้นอัสสัตถะนี้ภาษาไทยเรียกว่า “โพ” หรือต้นโพ ดังนั้น ต้นโพจึงเป็น “ต้นโพธิ์” ดังที่พจนานุกรมบอกไว้ว่า “บัดนี้หมายถึงต้นไม้จําพวกโพ”

๓. สรุปว่า “ต้นโพธิ์” เป็นคำแสดงฐานะของ “ต้นโพ” บอกให้รู้ว่า ต้นโพเป็นต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (เฉพาะพระองค์นี้) เมื่อจะเรียกชื่อต้นไม้ชนิดนี้ในภาษาไทย จึงต้องเขียนว่า “ต้นโพ” ไม่ใช่ “ต้นโพธิ์” แต่อาจพูดเล่นสำนวนได้ว่า “ต้นโพเป็นต้นโพธิ์

ดูก่อนภราดา!

ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน?

: เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในสมัยโน้น

: ง่ายกว่าเข้าพบภิกษุบางรูปในสมัยนี้

—————

(อันเนื่องมาจากความมึนงงของ Pim Anong เมื่อ 26 พฤษภาคม 2559)

2-6-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย