บาลีวันละคำ

ศรีสินทร (บาลีวันละคำ 2,520)

ศรีสินทร อ่านว่าอย่างไร

พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อขานอย่างมัธยมว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

มีผู้ถามว่า คำว่า “ศรีสินทร” อ่านว่าอย่างไร

ถ้าฟังตามที่อาลักษณ์อ่านในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็จะได้ยินตรงกัน คืออาลักษณ์อ่านว่า –

พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปะ-ระ-เมน-ทะ-ระ-รา-มา-ทิบ-บอ-ดี-สี-สิน-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-พฺระ-วะ-ชิ-ระ-เกล้า-เจ้า-อยู่-หัว

คำตอบคือ “ศรีสินทร” อ่านว่า สี-สิน

ถามอีกว่า ทำไมจึงไม่อ่านว่า สี-สิน-ทอน

ตอบว่า ตามหลักการอ่านคำที่เป็นชื่อเฉพาะ ท่านให้อ่านตามความประสงค์ของผู้เกี่ยวข้องกับชื่อนั้น เช่นผู้ตั้งชื่อ หรือเจ้าของชื่อเป็นต้น

ถ้าดูคำที่เป็นแนวเทียบ เช่น “จักรีนฤบดินทร” คำว่า “บดินทร” (ไม่มีการันต์ที่ ) ก็อ่านว่า บอ-ดิน ไม่ใช่ บอ-ดิน-ทอน

ดังนั้น “ศรีสินทร” ไม่อ่านว่า สี-สิน-ทอน แต่อ่านว่า สี-สิน ได้เช่นเดียวกัน

…………..

เสียงอาลักษณ์อ่านพระปรมาภิไธย

https://www.youtube.com/watch?v=Op8vCDFPPJA

…………..

อภิปรายแถม :

คำว่า “ศรีสินทร” ยังมีปัญหาว่า แปลว่าอะไร มาจากคำบาลีสันสกฤตคำไหน ขออภิปรายปัญหานี้เป็นของแถม

มีผู้แสดงหลักฐานว่า “ศรีสินทร” มาจากบาลีว่า “สิรีสินฺท” (สิ-รี-สิน-ทะ) ประกอบด้วยคำว่า สิรี (ความเจริญ) + สินฺท (ความเย็น) ตั้งวิเคราะห์ (วิเคราะห์: สูตรการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า

(1) สิรี จ สินฺโท จ สิรีสินฺทํ = ความเจริญและความเย็น ชื่อว่า “สิรีสินฺทํ”

(2) สิรีสินฺทํ วิย สิรีสินฺโท (ราชา) = (พระราชา) ผู้เป็นเพียงดังความเจริญและความเย็น ชื่อว่า “สิรีสินฺท”

สิรี” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ศรี

สินฺท” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สินทร

บาลี “สิรีสินฺท” สันสกฤตเป็น “ศฺรีสินฺทฺร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ศรีสินทร

หมายเหตุ: อธิบายตามนัยแห่งข้อมูลที่ญาติมิตรผู้ใช้นามว่า กวิน พ. โพสต์มาที่หน้าเฟซของผู้เขียนบาลีวันละคำ โดยอ้างอิง ‎Dulyasujarit Thawatchai‎ > ภาษาและวรรณคดีสันสกฤต

…………..

ฝ่ายผู้เขียนบาลีวันละคำจับเอาคำว่า “พระเจ้าอยู่หัว” เป็นหลัก คำนี้คนไทยคุ้นกันเป็นอันดี นอกจากจะเรียกเป็นคำติดปากแล้ว ในพระปรมาภิไธยก็ยังปรากฏคำนี้อยู่ด้วย

เมื่อมาเห็นคำว่า “ศรีสินทร” ก็จึงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากบาลีว่า สีส (สี-สะ) = หัว + อินฺท (อิน-ทะ) = เจ้า, ผู้เป็นใหญ่ = สีสินฺท (สี-สิน-ทะ) แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่เหนือหัว” ตรงกับคำไทยว่า “พระเจ้าอยู่หัว

สีสินฺท” อ่านแบบบาลีว่า สี-สิน-ทะ ถ้าเขียนแบบไทยเป็น “สีสินท์” ก็อ่านว่า สี-สิน ได้ทันที

เข้าใจว่า เสียงอ่านว่า “สี-สิน” นี่เองเมื่อเขียนเป็นอักษรจึงมีผู้สะกดเป็น “ศรีสินทร” เนื่องจาก “สี” ที่เราคุ้นกันมากก็คือ “ศรี” และเสียง “อิน” ที่คุ้นตาก็คือ “อินทร

บาลี “สีส” สันสกฤตเป็น “ศีรฺษ” เขียนเป็นไทยว่า “ศีรษะ” ก็ยังมีคนสะกดเป็น “ศรีษะ” หรือแม้แต่ “ศรีสะ” กันอยู่ในสมัยหนึ่ง เวลานี้แม้จะยุติแล้วว่าคำนี้สะกดเป็น “ศีรษะ” แต่ก็ยังมีคนเขียนผิดเป็น “ศรีษะ” อยู่ทั่วไป

ดังนั้น “สีสินฺท” จึงสะกดในภาษาไทยเป็น “ศรีษินทร” (อินฺท เป็น อินทร) แล้วเป็น “ศรีสินทร” ตามที่ปรากฏในเอกสารเก่าและใช้สืบกันมา

คำว่า “พระเจ้าอยู่หัว” นี่เองที่บัณฑิตแห่งราชสำนักแปลงเป็นบาลีสันสกฤต คือ “เจ้า” แปลงเป็น “อินฺท” (อินทร) “หัว” แปลงเป็น “สีส” (ศีรฺษ) ประกอบคำตามหลักบาลีสันสกฤตเป็น สีส (ศีรฺษ) + อินฺท (อินฺทฺร) = สีสินฺท > ศีรฺษินฺทฺร > ศรีสินทร

พึงทราบว่า เอกสารเก่าในสมัยที่ยังเขียนด้วยลายมือนั้น คำเดียวกันอาจสะกดยักเยื้องไปต่างๆ สุดแต่ว่าผู้เขียนจะเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้นหรือพอใจที่จะสะกดอย่างนั้น

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยปฏิบัติราชการที่งานบริการหนังสือและภาษาโบราณ (ชื่อหน่วยงานในเวลานั้น) หอสมุดแห่งชาติ ทำหน้าที่อ่านเอกสารโบราณเป็นเวลากว่า 3 ปี ขอรับรองว่าคำเดียวกันสะกดต่างกันเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง

แม้ในสมัยที่มีการพิมพ์แล้ว เอกสารของทางราชการ เช่นราชกิจจานุเบกษาฉบับเก่าๆ ที่ออกในรัชกาลก่อนๆ จะพบว่า คำเดียวกัน ชื่อบุคคลเดียวกัน สะกดต่างกัน ก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่

สรุปว่า ความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ “ศรีสินทร” เขียนเพี้ยนมาจาก “สีสินฺท” [สีส (หัว) + อินฺท (เจ้านาย)] ซึ่งแปลงมาจากคำไทยว่า “พระเจ้าอยู่หัว

…………..

คำว่า “ศรีสินทร” ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานไว้อ่านได้จากลิงก์นี้

…………..

ส่วนมติที่ว่า “ศรีสินทร” มาจาก สิริ (ความเจริญ) + สินฺท (เย็น) = สิริสินฺท > ศฺรีสินฺทร > ศรีสินทร นั้น ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่าเป็นการลากคำเข้าไปหาความ คือเห็นรูปคำแล้วจินตนาการไปว่าควรจะตรงกับคำใดในบาลีสันสกฤตที่มีความหมายในทางดี แล้วอธิบายคำไปหาความหมายนั้น

น่าสังเกตว่า “สินฺท” หรือ “สินทร” ที่แปลว่า “เย็น” นั้น เชื่อได้ว่าไม่มีใครรู้จักในภาษาไทย ในบาลีแม้จะมีคำนี้ แต่ก็เป็นคำที่สะกดผิดเพี้ยนมาจากคำอื่น

พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์ (THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS) ซึ่งเป็นพจนานุกรมบาลีที่สมบูรณ์ที่สุดในเวลานี้ก็ไม่มีคำว่า “สินฺท” (ที่แปลว่า เย็น)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน อันเป็นพจนานุกรมสันสกฤตที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้ค้นคว้า (แม้ว่าพจนานุกรมเล่มนี้จะยังไม่สมบูรณ์นัก) ก็ไม่มีคำว่า “สินฺทฺร” (ที่แปลว่า เย็น)

มติที่ว่า “ศรีสินทร” มาจาก สิริ (ความเจริญ) + สินฺท (เย็น) = สิริสินฺท > ศฺรีสินฺทร > ศรีสินทร จึงควรจะต้องมีเหตุผลที่มากกว่านี้

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ขัดแย้งกัน เป็นแต่เพียงนำเสนอหลักวิชาตามความเห็นของแต่ละคนแต่ละฝ่าย ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ข้อยุติที่ถูกต้องต่อไป เมื่อยุติเป็นอย่างไรก็ให้ถือตรงกันตามนั้น

จึงขอฝากไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระราชาผู้เทิดธรรมไว้เหนือชีวิต

: ย่อมควรที่ชนทุกทิศจะเทิดไว้เหนือหัว

#บาลีวันละคำ (2,520)

7-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *