บาลีวันละคำ

สัมฤทธิ์ (บาลีวันละคำ 1,463)

สัมฤทธิ์

อ่านว่า สำ-ริด

บาลีเป็น “สมิทฺธิ” อ่านว่า สะ-มิด-ทิ

สมิทฺธิ” ประกอบด้วย สํ + อิทฺธิ

(๑) “สํ” (สัง)

เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

(๒) “อิทฺธิ” (อิด-ทิ)

รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ– ต้นธาตุ

: อิธ > (อิ + + ธฺ) > อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ

อิทฺธิ” ในภาษาบาลี โดยเฉพาะที่สรุปได้จากคัมภีร์ มีความหมายดังนี้ –

(1) ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมสมกับตำแหน่งฐานะ

(2) ความสามารถทำสิ่งใดๆ ได้ตามที่ผู้อยู่ในฐานะนั้นๆ จะพึงทำได้

(3) ความสามารถเหนือวิสัยสามัญอันเกิดจากการอบรมจิตถึงระดับ เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ (โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยใดๆ)

(4) การฝึกฝนอบรมให้มีคุณธรรมอันจะสามารถทำสิ่งใดๆ ให้สำเร็จได้ตามปรารถนา

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิทธิ : (คำนาม) ฤทธิ์, อํานาจศักดิ์สิทธิ์; ความเจริญ, ความสําเร็จ, ความงอกงาม”

สํ + อิทฺธิ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม)

: สํ > สม + อิทฺธิ = สมิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จพร้อมกัน” หมายถึง ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง (success, prosperity)

บาลี “สมิทฺธิ” สันสกฤตเป็น “สมฺฤทฺธิ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สมฺฤทฺธิ : (คำนาม) แผลงเปน – ‘สัมฤทธิ,’ วรรธนะ; บุณโยทัย; อาธิปัตย์; อำนาจ; increase; prosperity; sway; power.”

สมิทฺธิ > สมฺฤทฺธิ ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “สัมฤทธิ

ถ้าต้องการให้อ่านว่า สำ-ริด เขียน “สัมฤทธิ์” (การันต์ที่ -ธิ)

ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เขียน “สัมฤทธิ-” อ่านว่า สำ-ริด-ทิ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัมฤทธิ-, สัมฤทธิ์ : (คำนาม) ความสําเร็จ ในคําว่า สัมฤทธิผล; โลหะเจือชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทองแดงกับดีบุก, ทองสัมฤทธิ์ หรือ ทองบรอนซ์ ก็เรียก, โบราณเขียนว่า สําริด. (ส. สมฺฤทฺธิ; ป. สมิทฺธิ).”

แถม :

สัมฤทธิ” โบราณเขียนว่า “สําริด” เหมือนเขียนเสียงอ่าน เราใช้คำว่า “สําริด” กันมานาน จนกระทั่งสมัยหนึ่งมีการแยกความหมายว่า –

ถ้าหมายถึงความสำเร็จ ใช้ว่า “สัมฤทธิ์

ถ้าหมายถึงโลหะเจือชนิดหนึ่ง ใช้ว่า “สําริด” เช่น ทองสำริด ขันสำริด

แต่ปัจจุบัน “สำริด” ที่หมายถึงโลหะเจือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้เขียนเป็น “สัมฤทธิ์” ตามรูปคำเดิม

……….

: ไม่ทำอะไรเลย ดีกว่าทำทุจริต

: ทำกุศล แม้ผลไม่สัมฤทธิ์ ก็ยังดีกว่าไม่คิดทำอะไรเลย

4-6-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย