ปรัศนี (บาลีวันละคำ 1,475)
ปรัศนี
เครื่องหมายคำถาม
อ่านว่า ปฺรัด-สะ-นี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปรัศนี : (คำนาม) เครื่องหมายรูปดังนี้ ‘?’, เครื่องหมายคําถาม ก็เรียก; สิ่งที่เป็นเงื่อนงำต้องหาคำตอบ. (ส.).”
พจน.54 ว่า “ปรัศนี” เป็นคำสันสกฤต
มีอีกคำหนึ่งที่เสียงล้อกับ “ปรัศนี” คือ “ปริศนา” (ปฺริด-สะ-หฺนา) พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ปริศนา : (คำนาม) สิ่งหรือถ้อยคําที่ผูกขึ้นเป็นเงื่อนงําเพื่อให้แก้ให้ทาย. (ส. ปฺรศฺน).”
พจน.54 ว่า “ปริศนา” สันสกฤตเป็น “ปฺรศฺน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “ปฺรศฺนี” แต่มีคำว่า “ปฺรศฺน” บอกไว้ดังนี้ –
“ปฺรศฺน : (คำนาม) ‘ปรัศนะ, ปรัศน์,’ อนุโยค, ปฤจฉา, คำถาม; a question, an inquiry.”
“ปฺรศฺน” บาลีเป็น “ปญฺห” (ปัน-หะ) (ปุงลิงค์) รากศัพท์มาจาก ปญฺห (ธาตุ = ถาม; ต้องการ) + อ ปัจจัย
: ปญฺห + อ = ปญฺห แปลตามศัพท์ว่า (1) “ข้อที่พึงถาม” (2) “ข้ออันคนอยากรู้” หมายถึง วิธีถาม, การสอบถาม, การสืบสวน, ปัญหา (mode of asking, inquiry, investigation, question)
อภิปราย :
๑. “ปญฺห” ในบาลีก็คือที่เราคุ้นกันว่า “ปัญหา” นั่นเอง
๒. เราคงไม่นึกว่า “ปญฺห” (ปัญหา) ในบาลีจะตรงกับ “ปฺรศฺน” ในสันสกฤต “ปฺรศฺน” น่าจะใกล้กับ “ปุจฺฉน” (ปุด-ฉะ-นะ) (รากศัพท์เดียวกับที่เราคุ้นว่า “ปุจฉา”) มากกว่า
แต่นักภาษาบอกว่า “ปญฺห” ในบาลี คือ “ปฺรศฺน” ในสันสกฤต
ปฺรศฺน + อี = ปฺรศฺนี > ปรัศนี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีคำถาม” ก็คือเครื่องหมายคำถามนั่นเอง
๓. เครื่องหมายคำถามควรกำกับไว้ตรงไหนของข้อความ?
เคยเห็นคนสมัยใหม่นิยมใช้เครื่องหมายคำถามต่อท้ายคำที่บ่งว่าเป็นคำถาม คือ ใคร อะไร อย่างไร ที่ไหน ทำไม เช่น –
ใคร? มาทำเลอะเทอะไว้ตรงนี้
อะไร? คือปัญหาของวัดพระธรรมกาย
ทำอย่างไร? จึงจะแก้ปัญหาได้
เราจะไปไหน? กัน
ทำไม? จึงไม่หยุดราชการวันพระ
หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องคือ เครื่องหมายคำถามต้องอยู่ท้ายประโยคคำถาม คือข้อความที่เป็นคำถามจบลงตรงไหน ก็ให้ใช้เครื่องหมายคำถามตรงท้ายประโยคนั้น
ข้อความข้างต้นที่ถูกต้องจึงเป็นดังนี้ –
ใครมาทำเลอะเทอะไว้ตรงนี้?
อะไรคือปัญหาของวัดพระธรรมกาย?
ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้?
เราจะไปไหนกัน?
ทำไมจึงไม่หยุดราชการวันพระ?
……
ชีวิตํ พฺยาธิ กาโล จ
เทหนิกฺเขปนํ คติ
ปญฺเจเต ชีวโลกสฺมึ
อนิมิตฺตา น นายเร.
(วิสุทธิมรรค ภาค ๒ หน้า ๑๐)
……
ดูก่อนภราดา!
เครื่องหมายคำถามในชีวิตของปุถุชนมี ๕ ข้อ คือ –
๑. จะมีชีวิตอยู่ไปได้นานเพียงไร?
๒. จะตายด้วยสาเหตุอะไร?
๓. จะตายในช่วงเวลาไหน เช้า สาย บ่าย เย็น กลางวัน กลางคืน?
๔. จะตายที่ไหน?
๕. ตายแล้วจะไปเกิดในภพภูมิไหน?
18-6-59