บาลีวันละคำ

เอหิภิกขุ (บาลีวันละคำ 3,076)

เอหิภิกขุ

ผู้ทรงธงชัยของพระอรหันต์ที่พระพุทธองค์ประทานเอง

อ่านว่า เอ-หิ-พิก-ขุ

ประกอบด้วยคำว่า เอหิ + ภิกขุ

(๑) “เอหิ

อ่านว่า เอ-หิ เป็นคำกริยาอาขยาต กัตตุวาจก มัธยมบุรุษ (ประธานเป็นผู้ที่เราพูดด้วย) เอกพจน์ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + อิ (ธาตุ = ไป) + (อะ) ปัจจัย + หิ ปัญจมีวิภัตติ, แปลง อา กับ อิ เป็น เอ

: อา + อิ = เอ + = เอ + หิ = เอหิ แปลตามศัพท์ว่า “(อันว่าท่าน) จงมา” เป็นคำบอกเชิญว่า จงมา, มานี่ (come, come here)

(๒) “ภิกขุ

คำนี้ถ้าเขียนทับศัพท์แบบไทยไม่มีจุดใต้ เขียนแบบบาลีเป็น “ภิกฺขุ” (มีจุดใต้ กฺ)

ภิกฺขุ” มีความหมายหลายนัย กล่าวคือ –

(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้  = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (ภิ)-ทฺ เป็น และซ้อน กฺ (ภิทฺ > ภิข > ภิกฺข), ลบ ที่ รู ปัจจัย แล้วรัสสะ อู เป็น อุ (รู > อู > อุ)

(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู ปัจจัย, ลบ ที่ ภ (ภย > ), ลบ ที่ รู ปัจจัย แล้วรัสสะ อู เป็น อุ (รู > อู > อุ)

(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (ภิ)-ทฺ เป็น และซ้อน กฺ (ภิทฺ > ภิข > ภิกฺข), ลบ ที่ รู ปัจจัย แล้วรัสสะ อู เป็น อุ (รู > อู > อุ)

(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู ปัจจัย, แปลง อะ ที่ กฺ-(ขฺ) เป็น อิ (ภกฺขฺ > ภิกฺขฺ), ลบ ที่ รู ปัจจัย แล้วรัสสะ อู เป็น อุ (รู > อู > อุ)

ภิกฺขุ” หมายถึง ผู้ขอ, บรรพชิต, พระหรือนักบวช, ภิกษุ (an almsman, a mendicant, a Buddhist monk or priest, a bhikkhu)

เอหิ + ภิกฺขุ = เอหิภิกฺขุ แปลตามศัพท์ว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” หมายถึง ภิกษุในสมัยต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองให้เป็นภิกษุด้วยพระองค์เอง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “เอหิภิกขุ” บอกไว้ดังนี้ –

เอหิภิกขุ : เป็นคำเรียกภิกษุที่ได้รับอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรงด้วยวิธีบวชที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา; พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นเอหิภิกขุองค์แรก.”

ขยายความ :

การบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนามีรูปแบบหรือวิธีการที่เป็นหลักอยู่ 3 แบบ คือ –

(1) เอหิภิกขุอุปสัมปทา (เอ-หิ-พิก-ขุ-อุ-ปะ-สำ-ปะ-ทา) การอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง

(2) ติสรณคมนูปสัมปทา หรือ สรณคมนูปสัมปทา (ติ-สะ-ระ-นะ-คะ-มะ-นู-ปะ-สำ-ปะ-ทา) การอุปสมบทด้วยถึงไตรสรณะ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกทำในยุคต้นพุทธกาล เมื่อคณะสงฆ์ยังไม่ใหญ่นัก เมื่อทรงอนุญาตวิธีที่ 3 แล้ววิธีที่ 2 นี้ก็เปลี่ยนใช้สำหรับบรรพชาสามเณร

(3) ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา (ยัด-ติ-จะ-ตุด-ถะ-กำ-มะ-อุ-ปะ-สำ-ปะ-ทา) การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำ ในเมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้ว และเป็นวิธีที่ใช้สืบมาจนทุกวันนี้

ข้อสังเกต :

ถ้าเรายังระลึกได้ วันมาฆบูชามีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า การประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 กล่าวคือ –

(1) วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือนสาม)

(2) พระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

(3) พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6

(4) พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ

เอหิภิกขุ” ในข้อ (4) ก็คือ “เอหิภิกขุ” ที่กำลังกล่าวถึงนี้

ในคัมภีร์อรรถกถาแสดงจำนวนพระสาวกที่เป็น “เอหิภิกขุ” ไว้ดังนี้

…………..

ครั้งปฐมโพธิกาลพระผู้มีพระภาคทรงให้กุลบุตรอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาในกาลชั่วระยะหนึ่ง ภิกษุผู้อุปสมบทด้วยวิธีอย่างนี้มีจำนวน 1,341 รูป คือ:-

– พระปัญจวัคคีย์ 5

– ยสกุลบุตร 1 พร้อมทั้งสหาย 54 = 55

– ภัททวัคคีย์ 30

– บริวารชฏิลสามพี่น้อง 1,000 ( +3)

– บริวารของพระอัครสาวก 250 ( +2)

– พระอังคุลิมาลเถระ 1

รวม 1,341 ( +5)

แต่อรรถกถาฉบับเดียวกันก็บอกด้วยว่า “เอหิภิกขุ” ตามรายการที่แสดงไว้นั้นเป็นเพียงจำนวนที่พระอุบาลีเถระแจกแจงไว้ในพระวินัยปิฎกในคราวทำปฐมสังคายนาเท่านั้น ความจริงยังมี “เอหิภิกขุ” ที่ปรากฏในพระสูตรอีกนับได้ 27,300 รูป คือ:-  

– เสลพราหมณ์พร้อมบริวารจำนวน 300

– พระมหากัปปินพร้อมบริวารจำนวน 1,000

– กุลบุตรชาวเมืองกบิลพัสดุ์จำนวน 10,000 (ครั้งที่พระเจ้าสุทโธทนะส่งคณะไปทูลเชิญพระพุทธองค์ให้เสด็จเมืองกบิลพัสดุ์คณะละ 1,000 คนถึง 10 คณะ และคนเหล่านั้นไปบวชหมดทั้งสิ้น)

– พวกปารายนิกพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้แสวงหาที่พึ่งในภพข้างหน้า) จำนวน 16,000

รวม 27,300

ที่มา: คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค 1 หน้า 343

…………..

พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธองค์ทรงรับรองให้เป็นภิกษุด้วยวิธีที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือเป็นภิกษุประเภท “เอหิภิกขุ” นั้น จะเป็นผู้ที่ได้บรรลุมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วหรือเป็นผู้ที่ทรงเล็งเห็นว่ามีอุปนิสัยสามารถบรรลุมรรคผลได้แน่นอน ไม่ปรากฏว่าภิกษุประเภท “เอหิภิกขุ” อยู่เป็นปุถุชนจนมรณภาพหรือลาสิกขาไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้ที่เอาธงชัยของพระอรหันต์มาเล่นสกปรก ไม่ต้องตกใจ

: นรกรับซักให้ทุกราย

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

#บาลีวันละคำ (3,076)

13-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย