บาลีวันละคำ

สยนาศรม (บาลีวันละคำ 1,478)

สยนาศรม

เชื้อชาติแขก สัญชาติไทย

อ่านว่า สะ-ยะ-นา-สม

ประกอบด้วย สยน + อาศรม

(๑) “สยน” (สะ-ยะ-นะ) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ สิ เป็น (สิ > สย), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สิ > สย + ยุ > อน = สยน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่นอน” (2) “การนอน

“สยน” หมายถึง การนอน, การนอนหลับ (lying down, sleeping); เตียง, ที่นอน (bed, couch)

(๒) “อาศรม

บาลีเป็น “อสฺสม” (อัด-สะ-มะ) รากศัพท์มาจาก –

1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สม (ความสงบ), รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สม

: อา > + สฺ + สม = อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีความสงบรอบด้าน

2) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ปัจจัย, รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สมฺ

: อา > + สฺ + สมฺ = อสฺสมฺ + = อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่ระงับความโกรธ” (2) “ที่ซึ่งกิเลสสงบได้อย่างดียิ่ง” (3) “ที่เป็นที่ระงับลงได้รอบด้านแห่งอันตรายที่บีบคั้นกายและจิต

3) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สมฺ (ธาตุ = บำเพ็ญเพียร) + ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สมฺ

: อา > + สฺ + สมฺ = อสฺสมฺ + = อสฺสมณ > อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญเพียรแรงกล้า

อสฺสม” ตามข้อ 1) และ 2) หมายถึง ที่อยู่ของผู้บำเพ็ญพรต (a hermitage) ตามข้อ 3) หมายถึง นักพรต, ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ (ascetic)

บาลี “อสฺสม” สันสกฤตเป็น “อาศฺรม” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาศฺรม : (คำนาม) ‘อาศรม,’ ที่อาศรัยของปราชญ์; ที่อยู่ของฤษีหรืออริยทั้งหลาย; ป่า, โรงเรียน; คนจำพวกหนึ่งในสี่จำพวก คือ;- ๑. พรหมจารี หรือ พวกนักเรียน, ๒. พวกคฤหัสถ์, ๓. พวกวาณปรัสถ์, ๔. พวกภิกษุ; a hermitage, the abode of sages; the abode of rishis or saints; a wood or thicket; a college or school; a religious class of men, of which there are four classes, viz. 1st, the student of Brahmacāri, 2nd, the householder or Gṛihasth, 3rd, the anchorite or Vāṇaprastha, 4th, the mendicant or Bhikshu.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อาศรม : ที่อยู่ของนักพรต; ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็นฮินดูแล้วได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็นขั้นหรือช่วงระยะ ๔ ขั้น หรือ ๔ ช่วง เรียกว่า อาศรม ๔ กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง ๔ อาศรมตามลำดับ (แต่ในทางปฏิบัติ น้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว) คือ

๑. พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์

๒. คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร

๓. วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร

๔. สันยาสี (เขียนเต็มเป็น สันนยาสี) เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่งผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก (ปราชญ์บางท่านว่าพราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น เช่น สันยาสี ตรงกับภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่)

สยน + อสฺสม = สยนสฺสม > สยนาศรม แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาศรมเป็นที่นอน” (2) “ที่พักของผู้ปฏิบัติธรรมส่วนที่ใช้เป็นที่นอน” (3) “ที่นอนของผู้ปฏิบัติธรรม

อภิปราย :

๑ “สยนาศรม” เป็นการเอาคำบาลีสันสกฤตมาผูกขึ้นใหม่ตามประสงค์ในภาษาไทย ยังไม่พบศัพท์ “สยนสฺสม > สยนาศรม” ในคัมภีร์

๒ อันที่จริง “อสฺสม > อาศรม” คำเดียวก็กินความได้ทุกอย่าง คือเป็นที่ปฏิบัติธรรม ที่กิน ที่อยู่ ที่นอน พร้อมเสร็จอยู่ในตัวแล้ว เพราะ “อาศรม” หมายถึงที่อยู่ของผู้ปฏิบัติธรรม

๓ “สยนาศรม” เป็นชื่ออาคารนอนใน “มหาจุฬาอาศรม” สถานปฏิบัติธรรมของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

๔ อาจเป็นเพราะใน “มหาจุฬาอาศรม” มีอาคารเฉพาะกิจหลายแห่ง เช่น อาคารปฏิบัติธรรม อาคารโรงฉัน (ที่รับประทานอาหาร) อาคารทำกิจกรรมอื่นๆ และอาคารนอน แต่ละอาคารใช้ทำกิจต่างกัน ผู้คิดคำนี้ต้องการเน้นให้เข้าใจว่าอาคารนี้ใช้เฉพาะเป็นที่นอน จึงตั้งชื่อว่า “สยนาศรม” (มีคำว่า “อาศรม” ล้อชื่อ “มหาจุฬาอาศรม”)

: นอนทำความดี

: ดีกว่าลุกขึ้นมาทำความชั่ว

—————

(ส่งการบ้านพระคุณท่าน Sunant Phramaha)

21-6-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย