รหัส – รโห (บาลีวันละคำ 1,480)
รหัส – รโห
อ่านว่า ระ-หัด ระ-โห
(๑) “รหัส”
บาลีเป็น “รหสฺส” (ระ-หัด-สะ) รากศัพท์มาจาก รห (ที่ลับ) + ส ปัจจัย, ซ้อน สฺ
: รห + สฺ + ส = รหสฺส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีอยู่ในที่ลับ”
“รหสฺส” เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความลับ, ความเร้นลับ (secrecy, secret) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ลับ, เฉพาะ (secret, private)
ในภาษาไทย “รหสฺส” ตัด ส ออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “รหัส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รหัส : (คำนาม) เครื่องหมายหรือสัญญาณลับซึ่งรู้เฉพาะผู้ที่ตกลงกันไว้, ข้อความที่เปลี่ยนตัวอักษรอื่นแทนอักษรที่ต้องการจะใช้ หรือสลับตำแหน่งอักษรของข้อความนั้น หรือใช้สัญลักษณ์แทน เป็นต้น ซึ่งรู้กันเฉพาะผู้ที่รู้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ, ระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ในเครื่องมือเครื่องใช้อย่างกุญแจหรือตู้นิรภัยเป็นต้น เช่น เลขรหัสบัตรเครดิต. (ป. รหสฺส; ส. รหสฺย).”
(๒) “รโห” รากศัพท์มาจาก –
1) รหฺ (ธาตุ = สงัด) + อ ปัจจัย
: รห + อ = รห แปลตามศัพท์ว่า “โอกาสที่สงัดจากผู้คน” (คือไม่มีใครอื่นอยู่ในที่นั้น อยู่คนเดียว)
2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + อ ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น ห (รมฺ > รหฺ)
: รมฺ > รหฺ + อ = รห แปลตามศัพท์ว่า “โอกาสเป็นที่ยินดีแห่งผู้คน” (คือไม่มีคนอื่นๆ มารบกวน สามารถทำสิ่งที่ต้องการได้อย่างสบายใจ)
“รห” หมายถึง ที่เปลี่ยว, ที่สงัด, ความเปล่าเปลี่ยว; ความลับ, ความรโหฐาน หรือไม่เป็นที่เปิดเผย (lonely place, solitude, loneliness; secrecy, privacy)
“รห” ในบาลีโดยปกติเป็น “รโห” ใช้ในฐานะเป็นนิบาต (ศัพท์คงรูป ไม่เปลี่ยนไปตามวิภัตติต่างๆ)
คำว่า “รโหฐาน” ที่เราคุ้นกันดีในภาษาไทยก็คือ “รโห-” คำนี้
อภิปราย :
๑ “รหัส” แปลว่า “ลับ” อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพูดว่า “รหัสลับ”
อย่างไรก็ตาม คำว่า “รหัสลับ” อาจอธิบายให้เข้าหลักภาษาไทยที่ชอบใช้คำซ้ำซ้อน เช่น ผู้คน เสื่อสาด บ้านเรือน อย่างนี้ก็ได้
๒ คำว่า “รโห” ในพุทธศาสนสุภาษิตที่นิยมนำไปพูดอ้างอิงคือ “นตฺถิ โลเก รโห นาม” แปลกันว่า ความลับไม่มีในโลก
พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้เป็นคาถา ข้อความเต็มๆ มีดังนี้ –
นตฺถิ โลเก รโห นาม
ปาปกมฺมํ ปกุพฺพโต
ปสฺสนฺติ วนภูตานิ
ตํ พาโล มญฺญเต รโห.
เมื่อทำชั่วเข้าแล้ว
ชื่อว่าความลับย่อมไม่มีในโลก
ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็นจนได้
คนเขลาย่อมเข้าใจว่าความชั่วที่ทำนั้นเป็นความลับ
ที่มา : สีลวีมังสชาดก จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๑๘
……
: การทำชั่วเป็นเรื่องที่น่าละอายพอแล้ว
: การปกปิดไม่ให้ใครรู้ยิ่งน่าละอายหนักขึ้นไปอีก
23-6-59