บาลีวันละคำ

ยถาสัตติ ยถาพลัง (บาลีวันละคำ 1,481)

ยถาสัตติ ยถาพลัง

ไม่คุ้นหน้า แต่น่ารู้จัก

เขียนแบบบาลีเป็น ยถาสตฺติ ยถาพลํ

อ่านว่า ยะ-ถา-สัด-ติ ยะ-ถา-พะ-ลัง

(๑) “ยถา” (ยะ-ถา)

เป็นคำจำพวกนิบาต แปลว่า ฉันใด, เหมือน, ตาม

หลักการใช้ ยถา :

– ถ้าใช้โดดๆ จะต้องมีข้อความที่มีคำว่า “เอวํ” หรือ “ตถา” มาคู่กัน เหมือนภาษาไทยว่า “ฉันใด” ต้องมี “ฉันนั้น” มารับ

– ถ้าสมาสกับคำอื่น นิยมแปลว่า “ตาม-” เช่น “ยถากรรม” : ยถา + กมฺม = ยถากมฺม > ยถากมฺมํ > ยถากรรม แปลว่า “ตามกรรม

(๒) “สัตติ” (สัด-ติ)

บาลีเขียน “สตฺติ” รากศัพท์มาจาก สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, ลบ กฺ ที่สุดธาตุ, ซ้อน ตฺ

: สกฺ > + ตฺ + ติ = สตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)

สตฺติ” อีกความหมายหนึ่ง แปลว่า มีด, กริช, ดาบ (knife, dagger, sword); หอก, หลาว (a spear, javelin)

สตฺติ” สันสกฤตเป็น “ศกฺติ” ที่เราคุ้นในภาษาไทยว่า “ศักดิ์” หรือ “ศักดา” นั่นเอง

(๓) “พลัง

บาลีเป็น “พลํ” ศัพท์เดิม “พล” (พะ-ละ) รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + ปัจจัย

: พล + = พล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู

พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –

(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)

(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

ยถา + สตฺติ = ยถาสตฺติ > ยถาสัตติ แปลว่า “ตามความสามารถ

ยถา + พล = ยถาพล > ยถาพลํ > ยถาพลัง แปลว่า “ตามกำลัง

ยถาสตฺติ  ยถาพลํ > ยถาสัตติ  ยถาพลัง” เป็นวลีหนึ่งที่นิยมใช้ในภาษาบาลี คำแปลเก่าๆ ว่า “ตามสัตติกำลัง” มีความหมายตรงกับคำที่พูดกันว่า “เต็มกำลังความสามารถ” คือ เมื่อกระทำกิจอันใดอันหนึ่งก็ทำเต็มตามความสามารถและเต็มตามกำลังที่มีอยู่

อธิบายในทางตรงข้ามว่า ทำแค่ 50 ทั้งๆ ที่มีความสามารถเต็ม 100 มีกำลังเต็ม 100 นี่คือไม่ได้ทำตามหลัก “ยถาสัตติ  ยถาพลัง = ตามความสามารถ ตามกำลัง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยถาสตฺติ” ว่า as much as one can do, according to one’s ability (เท่าที่สามารถทำได้, ตามความสามารถ)

และแปล “ยถาพลํ” ว่า according to one’s power, i. e. as much as possible ตามกำลัง, คือ มากเท่าที่จะเป็นไปได้)

ยถาสัตติ  ยถาพลัง” มักมีผู้เข้าใจผิดเป็น “ยถาสติ –” แล้วเลยแปลว่า “ตามสติกำลัง” เพราะ “สัตติ” เสียงใกล้กับ “สติ” และเราคุ้นกับคำว่า “สติ” มากกว่า แต่ไม่คุ้นและไม่รู้ความหมายของ “สัตติ

ถ้าเป็น “ยถาสติ” แปลว่า “ตามสติ” คือตามความระลึกได้ หมายความว่า กิจอันควรทำ ระลึกได้ก็ทำ ระลึกไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ – จะเห็นว่าผิดลักษณะคำสอนในพระพุทธศาสนา

ตรวจดูในคัมภีร์ พบว่า ที่เขียนเป็น “ยถาสติ” ก็มีบ้าง แต่น้อย และน่าจะเข้าลักษณะอักขรวิปลาส คือพยัญชนะคลาดเคลื่อน (ยังไม่ได้ตรวจดูในอรรถกถาฎีกาว่า ท่านอธิบายเป็นยถาสติก็มีด้วยหรือเปล่า)

ดูก่อนภราดา!

: มีความสามารถ แต่ไม่ใช้ จะต่างอะไรกับไร้ความสามารถ

: พูดได้ แต่ไม่พูด จะต่างกับคนใบ้ที่ตรงไหนกันเล่า?

24-6-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย