บาลีวันละคำ

เสนา (บาลีวันละคำ 837)

เสนา

ทั้งบาลีและไทยเขียนเหมือนกัน

อ่านเหมือนกันว่า เส-นา

เสนา” รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ สิ) เป็น เอ, ลง อา เครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ > เส + น = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้

เสนา” หมายถึง กองทัพ

สมัยโบราณกองทัพที่เป็นมาตรฐานจะประกอบด้วยกำลังพลสี่เหล่า คือ พลช้าง, พลรถ, พลม้า และพลราบ (an army consisting of elephants, chariots, cavalry & infantry) เรียกว่า “จตุรงฺคินี เสนา” (จะ-ตุ-รัง-คิ-นี-เส-นา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

เสนา ๑ : น. ไพร่พล. (ป., ส.).

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่ เป็น –

เสนา ๑ : (คำโบราณ) น. ข้าราชการฝ่ายทหาร. (ป., ส.).

คำว่า “ไพร่พล” กับ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างมาก

ลิเกสมัยเก่าที่เล่นเรื่องประเภท “จักรๆ วงศ์ๆ” จะต้องมีตัวแสดงที่เรียกว่า “เสนา” เสมอ เทียบกับละครโทรทัศน์สมัยนี้ “เสนา” ก็คือคนใช้ไพร่บ่าวนั่นเอง

ในทางธรรม มีคำว่า “มารเสนา” แปลว่า “กองทัพของมาร” หมายถึงกองกิเลสที่กลุ้มรุมจิตใจอยู่มิเว้นวาย

: มีกองทัพรับรบสยบโลก

: เป็นจอมโจกจักรพรรดิสมบัติผอง

: แต่หัวใจเท่ากำปั้นไม่หมั่นมอง

: หลงว่าครองโลก-ที่แท้ก็แพ้ใจ.

#บาลีวันละคำ (837)

2-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *