วิรัติ (บาลีวันละคำ 1,162)
วิรัติ
อ่านว่า วิ-รัด
บาลีเป็น “วิรติ” อ่านว่า วิ-ระ-ติ
“วิรติ” รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, ต่าง) + รมฺ (ธาตุ = เว้น) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: วิ + รมฺ + ติ = วิรมติ > วิรติ แปลตามศัพท์ว่า :
(1) “การเว้นพิเศษ” (คือปกติไม่ได้เว้น การงดเว้นนี้จึงพิเศษกว่าปกติ)
(2) “การเว้นต่าง” (คือคนทั่วไปไม่เว้นการกระทำเช่นนั้น การงดเว้นนี้จึงต่างจากคนทั่วไป)
“วิรติ” หมายถึง การเลิกละ, การงดเว้น (leaving off, abstinence); การงดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยทำ (abstaining from)
“วิรติ” (วิ-ระ-ติ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิรัติ” (วิ-รัด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิรัติ : (คำกริยา) งดเว้น, เลิก. (คำนาม) การงดเว้น, การเลิก, เช่น มังสวิรัติ สุราวิรัติ. (ป., ส. วิรติ).”
———-
“มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) = เว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์
“สุราวิรัติ” (สุ-รา-วิ-รัด) = เว้นจากการดื่มสุรา (และของมึนเมา)
———-
ในหลักวิชาทางธรรม ท่านแบ่ง “วิรัติ” เป็น 3 อย่าง คือ –
(1) สัมปัตตวิรัติ (สำ-ปัด-ตะ-วิ-รัด) เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า (สัมปัตต : “ถึงพร้อม” – reached, arrived, come to, present) = งดเว้นเมื่อมีเหตุมาประจวบเข้าเฉพาะหน้า (ไม่ได้ตั้งเจตนามาก่อน)
(2) สมาทานวิรัติ (สะ-มา-ทาน-นะ-วิ-รัด) เว้นด้วยการสมาทาน (สมาทาน : “ยึดถือไว้พร้อม” – resolution, vow) = ตั้งใจงดเว้นไว้ก่อนแล้ว
(3) สมุจเฉทวิรัติ (สะ-หฺมุด-เฉด-ทะ-วิ-รัด) เว้นได้โดยเด็ดขาด (สมุจเฉท : “ตัดขึ้นพร้อม” – cutting off, abolishing, giving up) = ปฏิบัติถึงขึ้นที่ตัดได้ขาดจริง
สมุจเฉทวิรัติ ในข้อ (3) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เสตุฆาตวิรัติ” (เส-ตุ-คา-ตะ-วิ-รัด) = เว้นได้เหมือนรื้อสะพาน
———-
เสตุฆาต มาจาก เสตุ + ฆาต
“เสตุ” แปลว่า สะพาน (a causeway, bridge)
“ฆาต” (คา-ตะ) ตามศัพท์แปลว่า “การฆ่า” (killing, murdering)
“เสตุฆาต” แปลตามศัพท์ว่า “การรื้อสะพาน” (pulling down of the bridge) เป็นสำนวน หมายถึงตัดการไปมาอย่างเด็ดขาด คือไม่ทำสิ่งนั้นอีกต่อไปตลอดกาล
———-
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [108] แสดงเรื่อง “วิรัติ” ทั้ง 3 ไว้ดังนี้ –
วิรัติ 3 (การเว้นจากทุจริต, การเว้นจากกรรมชั่ว — Virati : abstinence)
1. สัมปัตตวิรัติ (เว้นสิ่งประจวบเฉพาะหน้า, เว้นเมื่อประสบซึ่งหน้า หรือเว้นได้ทั้งที่ประจวบโอกาส คือ ไม่ได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน ไม่ได้สมาทานสิกขาบทไว้เลย แต่เมื่อประสบเหตุที่จะทำชั่ว นึกคิดพิจารณาขึ้นได้ในขณะนั้นว่า ตนมีชาติตระกูล วัย หรือคุณวุฒิอย่างนี้ ไม่สมควรกระทำกรรมเช่นนั้น แล้วงดเว้นเสียได้ไม่ทำผิดศีล — Sampatta-virati: abstinence as occasion arises; abstinence in spite of opportunity)
2. สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน คือ ตนได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยได้รับศีล คือ สมาทานสิกขาบทไว้แล้ว ก็งดเว้นตามที่ได้สมาทานนั้น — Samādāna-virati: abstinence by undertaking; abstinence in accordance with one’s observances)
3. สมุจเฉทวิรัติ หรือ เสตุฆาตวิรัติ (เว้นด้วยตัดขาด หรือด้วยชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว, เว้นได้เด็ดขาด คือ การงดเว้นความชั่วของพระอริยะทั้งหลาย อันประกอบด้วยอริยมรรคซึ่งขจัดกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วนั้นๆ เสร็จสิ้นแล้ว ไม่เกิดมีแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นเลย — Samuccheda-virati, Setughāta~ : abstinence by rooting out)
วิรัติ 2 อย่างแรก ยังไม่อาจวางใจได้แน่นอน วิรัติข้อที่ 3 จึงจะแน่นอนสิ้นเชิง
————-
ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุโมทนากับญาติมิตรทุกท่านที่ตั้งใจวิรัติอกุศล คือสิ่งที่เห็นว่าไม่ดีไม่งามไม่เหมาะไม่ควร ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปตลอดเทศกาลเข้าพรรษา
อกุศล :
ยิ่งวางยิ่งว่าง
ยิ่งห่างยิ่งเย็น
ยิ่งเว้นยิ่งเบาสบาย
31-7-58