คำบูชาข้าวพระ [2] (บาลีวันละคำ 2001)
คำบูชาข้าวพระ [2] – สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ
คำว่า “ข้าวพระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ข้าวพระ : (คำนาม) อาหารคาวหวานที่จัดใส่สำรับสําหรับถวายพระพุทธ.”
คำบูชาข้าวพระนิยมกล่าวเป็นภาษาบาลี มีข้อความดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
อิมัง สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ.
แปลยกศัพท์ :
อหํ อันว่าข้าพเจ้า
ปูเชมิ ขอบูชา
โอทนํ ซึ่งข้าวสุก
สาลีนํ อันบริสุทธิ์ (คืออันดี, อันประณีต)
สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ
อุทกํ (และ) น้ำ
วรํ อันประเสริฐ
อิมํ นี้
พุทฺธสฺส แก่พระพุทธเจ้า
แปลโดยใจความ :
ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า
…………..
อภิปราย :
คำว่า “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺน” หมายถึงอะไร?
“สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺน” แยกศัพท์เป็น สูป + พฺยญฺชน + สมฺปนฺน
(๑) “สูป”
อ่านว่า สู-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ปา (ธาตุ = ดื่ม) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ ปา + อ > ป + อ, ทีฆะ อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)
: สุ + ปา = สุปา > สุป + อ = สุป > สูป แปลตามศัพท์ว่า “อาหารอันเขาดื่มเพื่อความสะดวก”
(2) สุ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ป ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)
: สุ + ป = สุป > สูป แปลตามศัพท์ว่า “อาหารที่หลั่งความพอใจให้”
“สูป” หมายถึง แกง, น้ำแกง ตรงกับคำฝรั่งว่า soup นั่นเอง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สูป” ว่า broth, soup, curry (น้ำเนื้อต้ม, ซุป, แกง)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สูป : (คำนาม) อุปสกร, เครื่องชูรสอาหาร; อาหารต้ม, ‘ต้มหรือแกง’ ก็เรียก; สูปการ; ภาชนะ; ศร; sauce or condiment; soup or broth; a cook; a vessel; an arrow.”
(๒) “พฺยญฺชน”
โปรดสังเกตว่ามีจุดใต้ พฺ บังคับให้ พฺ กับ ย ต้องอ่านควบกัน
ออกเสียงว่า เพียน-ชะ-นะ จะได้เสียงที่ตรง
อีกรูปหนึ่งเป็น “วฺยญฺชน” (เวียน-ชะ-นะ) วฺ แปลงเป็น พฺ เป็นหลักเกณฑ์ที่พบได้เสมอ
“พฺยญฺชน” รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง อิ ที่ วิ เป็น ย, ว เป็น พ, (วิ > วฺย > พฺย)
: วิ > วฺย + อญฺช = วฺยญฺช + ยุ > อน = วฺยญฺชน > พฺยญฺชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องให้ถึงภัตโดยพิเศษ” (คือทำให้รู้รสชาติอาหาร หรือช่วยให้กินอาหารได้อย่างออกรส) หมายถึง เครื่องปรุง, แกง, กับข้าว (condiment, curry)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วฺยญฺชน : (คำนาม) ‘วยัญชน, พยัญชนะ,’ เครื่องหมาย; ลักษณะ, ลิงค์หรือเครื่องหมายบอกลักษณะ; เครา; ส่วน- ภาค- หรือองค์ที่ลับ; อุปสกร, เครื่องชูรสอาหาร (ได้แก่-น้ำสอซ, น้ำปลา, น้ำพริก, ฯลฯ); อักษรตัวหนึ่งในหมวดพยัญชนะ (อันมิใช่สระ); สาลังการพจน์หรืออุปมาโวหาร; บริภาษณ์; a token; an insignia; the beard; A privy part; sauce or condiment; a consonant; a figurative expression; an irony, a sarcasm.”
“พฺยญฺชน” ที่หมายถึง “ของกิน” มักมาคู่กับ “สูป” = สูปพฺยญฺชน
ตามความเข้าใจทั่วไป สูป กับ พฺยญฺชน เมื่อพูดควบคู่กัน จะแยกความหมายกันชัดเจน คือ :
“สูป” หมายถึง กับข้าวชนิดที่เป็นน้ำ ( = น้ำๆ)
“พฺยญฺชน” หมายถึง กับข้าวชนิดที่ไม่เป็นน้ำ ( = แห้งๆ)
(๓) “สมฺปนฺน”
อ่านว่า สำ-ปัน-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง ทฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น นฺน
: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปท + ต = สมฺปทต > สมฺปนฺน แปลตามศัพท์ว่า “ถึงพร้อมกันแล้ว” “ถึงแล้วด้วยดี”
“สมฺปนฺน” ในบาลีใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) สำเร็จ, สมบูรณ์, ดีพร้อม (successful, complete, perfect)
(2) กอปรด้วย, มี, อุดมด้วย (endowed with, possessed of, abounding in)
(3) หวาน, ปรุงอย่างดี (sweet, well cooked)
การประสมคำ :
๑ สูป + พฺยญฺชน = สูปพฺยญฺชน แปลกันว่า “แกงและกับ” หมายถึง กับข้าว (condiment, curry) (กับข้าว : อาหารซึ่งปรกติใช้กินพร้อมข้าว)
๒ สูปพฺยญฺชน + สมฺปนฺน = สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺน แปลว่า “อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ” หมายถึง มีกับข้าวประเภทน้ำและกับข้าวประเภทแห้งพร้อมสรรพ
“สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺน” แปลสั้นๆ คือ “(ข้าว) พร้อมทั้งกับข้าว”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กินข้าวเปล่าไม่มีกับ จะเปิบสำรับได้สักกี่คำ
: มีความรู้ไม่คู่กับคุณธรรม จะอยู่เป็นคนไปได้สักกี่คน
————-
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (2,001)
4-12-60