บาลีวันละคำ

อุชุปฏิปันโน (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,780)

อุชุปฏิปันโน (ชุดสังฆคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –

…………..

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ

อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระสังฆคุณ 9 ท่านนับบทว่า “อุชุปฏิปันโน” เป็นบทที่ 2

คำว่า “อุชุปฏิปันโน” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “อุชุปะฏิปันโน” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “อุชุปฏิปันโน” อ่านว่า อุ-ชุ-ปะ-ติ-ปัน-โน

“อุชุปฏิปันโน” เขียนแบบบาลีเป็น “อุชุปฏิปนฺโน” อ่านว่า อุ-ชุ-ปะ-ติ-ปัน-โน รูปคำเดิมเป็น “อุชุปฏิปนฺน” อ่านว่า อุ-ชุ-ปะ-ติ-ปัน-นะ ประกอบด้วย อุชุ + ปฏิปนฺน

(๑) “อุชุ”

รากศัพท์มาจาก –

(1) อชฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ อ-(ชฺ) เป็น อุ (อชฺ > อุช)

: อชฺ + อุ = อชุ > อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปสู่ความไม่คด”

(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ชุ ปัจจัย, แปลง อรฺ เป็น อุ (อรฺ > อุ)

: อร > อุ + ชุ = อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปโดยไม่คด”

(3) อุชุ (ธาตุ = ตรง, ซื่อตรง, ซื่อสัตย์) + อ (อะ) ปัจจัย

: อุชุ + อ = อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ตรง”

“อุชุ” หมายถึง ตรง, โดยตรง; ตรงไปตรงมา, ซื่อสัตย์, ซื่อตรง (straight, direct; straightforward, honest, upright)

บาลี “อุชุ” สันสกฤตเป็น “ฤชุ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

“ฤชุ : (คำคุณศัพท์) ตรง ซื่อตรง, สุจริต; straight; upright; honest.”

(๒) “ปฏิปนฺน”

อ่านว่า ปะ-ติ-ปัน-นะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ปทฺ > ป), แปลง ต เป็น นฺน (หรือนัยหนึ่ง แปลง ทฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น นฺน)

: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + ต = ปฏิปทฺต > ปฏิปนฺน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปถึงเฉพาะ” “ผู้ดำเนินไป” “ผู้ปฏิบัติ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิปนฺน” ว่า [having] followed or following up, reaching, going along or by [i. e. practising], entering on, obtaining ([ได้] ดำเนินตามหรือกำลังติดตาม, ไปตามหรืออาศัย [คือปฏิบัติ], เข้าสู่, ได้รับ)

อุชุ + ปฏิปนฺน = อุชุปฏิปนฺน แปลว่า “ผู้ไปถึงด้วยปฏิปทาตรง” “ผู้ดำเนินไปโดยทางตรง” “ผู้ปฏิบัติตรง”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุชุปฏิปนฺน” ว่า living uprightly (ผู้ดำรงชีวิตโดยเที่ยงธรรมหรือซื่อตรง)

ในที่นี้ “อุชุปฏิปันน” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “สาวกสงฺโฆ” (พระสงฆ์สาวก, ที่คำขึ้นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“สาวกสงฺโฆ” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“อุชุปฏิปนฺน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อุชุปฏิปนฺโน” เขียนแบบไทยเป็น “อุชุปฏิปันโน”

ขยายความ :

“อุชุปฏิปันโน” เป็นคุณนามบทที่ 2 ของพระสงฆ์

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 280 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงลักษณะของ “อุชุปฏิปันโน” ไว้ดังนี้ –

…………..

ยสฺมา ปน สา สมฺมาปฏิปทา อุชุ อวงฺกา อกุฏิลา อชิมฺหา … ตสฺมา ตํ ปฏิปนฺโน อริยสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน …

ก็เพราะว่าสัมมาปฏิปทานั้นเป็นปฏิปทาตรง คือไม่คด ไม่โกง ไม่งอ … เหตุนั้น พระอริยสงฆ์ผู้ดำเนินปฏิปทานั้นจึงได้ชื่อว่า อุชุปฏิปนฺโน (ปฏิบัติตรง)

มชฺฌิมาย ปฏิปทาย อนฺตทฺวยํ อนุปคมฺม ปฏิปนฺนตฺตา กายวจีมโนวงฺกกุฏิลชิมฺหโทสปฺปหานาย ปฏิปนฺนตฺตา จ อุชุปฏิปนฺโน …

ชื่อว่า อุชุปฏิปนฺโน เพราะปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าใกล้อันตะ (ที่สุดโต่ง) ทั้ง 2 ข้าง และเพราะปฏิบัติเพื่อละโทษ คือความคด ความโกง และความงอ ทางกายวาจาใจ

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อุชุปฏิปนฺโน” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

อุชุปฏิปนฺโน : (พระสงฆ์) เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ ไม่ลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ไม่อำพราง หรือดำเนินทางตรง คือมัชฌิมาปฏิปทา (ข้อ ๒ ในสังฆคุณ ๙)

…………..

: ทางบางสายตรงไปนรก

: ทางบางสายตรงไปสวรรค์

: ทางบางสายตรงไปพระนฤพาน

ไม่ว่าท่านจะเลือกไปทางไหน

หรือไม่รู้ว่าจะเลือกไปทางไหน

ในที่สุดท่านก็ต้องไปทางหนึ่ง

ดูก่อนภราดา!

: ท่านจะไปตามทางที่คนอื่นเลือกให้

: หรือท่านจะไปตามทางที่ท่านเลือกเอง

#บาลีวันละคำ (3,780)

18-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *