อุจจาระ – ปัสสาวะ (บาลีวันละคำ 1,500)
อุจจาระ – ปัสสาวะ
ไม่หยาบและไม่น่ารังเกียจ-ถ้ารู้จักพิจารณา
“อุจจาระ” บาลีเป็น “อุจฺจาร” (มีจุดใต้ จฺ ตัวหน้า) อ่านว่า อุด-จา-ระ
“ปัสสาวะ” บาลีเป็น “ปสฺสาว” อ่านว่า ปัด-สา-วะ
(๑) “อุจฺจาร” รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, บน, นอก) + จรฺ (ธาตุ = ละ, ทิ้ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ซ้อน จฺ ระหว่าง อุ กับ จรฺ (อุ + จฺ + จรฺ), ยืดเสียง อะ ที่ จ-(รฺ) เป็น อา (จรฺ > จาร)
: อุ + จฺ + จรฺ = อุจฺจรฺ + ณ = อุจฺจรณ > อุจฺจร > อุจฺจาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาขับถ่ายออก”
(๒) “ปสฺสาว” รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ออก) + สุ (ธาตุ = ไหลไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ซ้อน สฺ ระหว่าง ป กับ สุ (ป + สฺ + สุ), แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (สุ > โส > สาว)
: ป + สฺ + สุ = ปสฺสุ + ณ = ปสฺสุณ > ปสฺสุ > ปสฺโส > ปสฺสาว แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่ไหลออก”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุจฺจาร” ว่า discharge, excrement, faeces (มูล, คูถ, อุจจาระ)
แปล “ปสฺสาว” ว่า urine (ปัสสาวะ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “ปสฺสาว” แปลตามศัพท์ว่า “flowing out” (ไหลออก) ตรงกับที่นักไวยากรณ์ฝ่ายไทยแปลว่า “น้ำที่ไหลออก”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อุจจาร-, อุจจาระ : (คำนาม) ขี้, (ภาษาปาก) อึ. (ป., ส.).
(2) ปัสสาวะ : (คำนาม) เยี่ยว. (ป.; ส. ปฺรศฺราว).
ข้อสังเกต :
๑ พจน.54 เก็บคำว่า “อุจจารมรรค” ไว้เป็นลูกคำของ “อุจจาร-” โดยบอกไว้ว่า
“อุจจารมรรค : (คำนาม) ทวารหนัก. (ส.; ป. อุจฺจารมคฺค).”
แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ปัสสาวมรรค” ไว้เป็นลูกคำของ “ปัสสาว-” ทั้งๆ ที่ “ปัสสาวมรรค” เป็นคำจำพวกเดียวกับ “อุจจารมรรค” นั่นเอง
: อุจจารมรรค = ทวารหนัก
: ปัสสาวมรรค = ทวารเบา
๒ เรามักรู้สึกกันว่า “อุจจาระ – ปัสสาวะ” เป็นสิ่งน่ารังเกียจ ไม่น่าพูดถึง แต่ในทางธรรม อุจจาระ – ปัสสาวะ นับเข้าในอาการ 32 ที่มนุษย์ทุกคนต้องมีโดยธรรมชาติ ท่านแนะให้หมั่นพิจารณาเป็นการเจริญสติได้เป็นอย่างดี
๓ “อุจจาระ – ปัสสาวะ” เป็นภาษาสุภาพ แม้กระนั้นก็ตาม เดี๋ยวนี้ถ้าพูดว่า ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ก็ชักจะฟังไม่ค่อยสุภาพ จึงเกิดคำพูดเพื่อหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น เช่น “ไปห้องน้ำ” หรือ “เข้าห้องน้ำ” ซึ่งครอบคลุมกิจหนักเบาน้อยใหญ่อันจะพึงทำในที่ไม่เปิดเผยได้ทั้งหมด
แต่คำไทยตรงๆ คือ ขี้ – เยี่ยว ก็ยังสามารถใช้สื่อสารในสังคมใกล้ชิดได้ดีอยู่
……..
ดูก่อนภราดา!
ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน?
: ข้าวดีแกงดี ส่งให้ชีวัดนอก
: ขี้เยี่ยวไม่ออก ส่งให้ชีวัดใน
13-7-59