บาลีวันละคำ

คำบูชาข้าวพระ [4] – โอทนํ (บาลีวันละคำ 2003)

คำว่า “ข้าวพระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ข้าวพระ : (คำนาม) อาหารคาวหวานที่จัดใส่สำรับสําหรับถวายพระพุทธ.”

คำบูชาข้าวพระนิยมกล่าวเป็นภาษาบาลี มีข้อความดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

อิมํ  สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ  สาลีนํ  โอทนํ  อุทกํ  วรํ  พุทฺธสฺส  ปูเชมิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

อิมัง  สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง  สาลีนัง  โอทะนัง  อุทะกัง  วะรัง  พุทธัสสะ  ปูเชมิ.

แปลยกศัพท์ :

อหํ  อันว่าข้าพเจ้า

ปูเชมิ  ขอบูชา

โอทนํ ซึ่งข้าวสุก

สาลีนํ อันบริสุทธิ์ (คืออันดี, อันประณีต)

สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ

อุทกํ (และ) น้ำ

วรํ อันประเสริฐ

อิมํ นี้

พุทฺธสฺส แก่พระพุทธเจ้า

แปลโดยใจความ :

ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า

…………..

อภิปราย :

มีปัญหาว่า ในคำบูชาข้าวพระนั้น “สาลีนํ  โอทนํ” หรือ “สาลีนํ  โภชนํ” กันแน่?

โอทนํ” หรือ “โภชนํ” ต่างกันอย่างไร

(๑) “โอทนํ” รูปศัพท์เดิมคือ “โอทน” (โอ-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = เปียก, ชุ่ม; เจริญ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง อุทิ เป็น โอทฺ

: อุทิ > โอทฺ + ยุ > อน = โอทน แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่เปียกน้ำ” “ข้าวที่เจริญ” (คือสวยงาม)

โอทน” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ข้าวสุก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โอทน” ว่า boiled (milk — ) rice, gruel (ข้าวสุก, ข้าวต้ม)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โอทน-, โอทนะ : (คำนาม) ข้าวสุก, ข้าวสวย. (ป.).”

(๒) “โภชนํ” รูปศัพท์เดิมคือ “โภชน” (โพ-ชะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ (ภุชฺ > โภชฺ)

: ภุชฺ + ยุ > อน = ภุชน > โภชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” “สิ่งที่ควรกิน

โภชน” (นปุงสกลิงค์) นักเรียนบาลีมักแปลทับศัพท์ว่า โภชนะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โภชน” ว่า food, meal, nourishment in general (อาหาร, โภชนะ, ของกินโดยทั่วๆ ไป)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โภชน-, โภชนะ : (คำนาม) อาหาร; การกิน, การกินข้าว. (ป., ส.).”

ถ้าดูคำแปลเป็นอังกฤษจะเห็นความแตกต่างชัดเจน

โอทน = boiled (milk — ) rice, gruel (ข้าวสุก, ข้าวต้ม)

โภชน = food, meal, nourishment in general (อาหาร, โภชนะ, ของกินโดยทั่วๆ ไป)

สรุปว่า –

โอทน” คือ rice = ข้าวสุก

โภชน” คือ food = อาหาร

ตามวัฒนธรรมไทย “ข้าว” (โอทน = rice) เป็นอาหารหลัก แต่ไม่ได้กินข้าวเปล่าๆ ต้องมี “กับข้าว” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “กับ” ด้วย

และ “กับข้าว” นี่เองที่ตรงกับคำบาลีว่า “สูปพฺยญฺชน” ที่แปลกันว่า “แกงและกับ” (condiment, curry) (ดูเพิ่มเติม: “คำบูชาข้าวพระ [2] – สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” บาลีวันละคำ (2,001) 4-12-60)

“กับข้าว” ต้องกินพร้อมข้าว นั่นคือ ถ้ามีกับข้าวก็ต้องมีข้าวด้วย ในทางกลับกัน ถ้ามีข้าวก็ต้องมีกับข้าวด้วย เพราะเป็นของที่ต้องกินพร้อมกัน

คำบูชาข้าวพระมีคำว่า “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” แปลว่า “พร้อมทั้งกับข้าว” เป็นการยืนยันว่าสิ่งที่จะต้องมีมากับ “กับข้าว” ก็ต้องเป็น “ข้าว” นั่นเอง

และ “ข้าว” ก็คือ “โอทน

ส่วน “โภชน” หมายถึงอาหารทั่วไป (food, meal, nourishment in general) ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมี “สูปพฺยญฺชน” เป็นของควบคู่กัน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง มี “โภชนํ” ไม่จำเป็นต้องมี “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ

แต่ถ้ามี “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” จำเป็นต้องมี “โอทนํ

เทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น –

โภชนํ” เหมือนอาหารจานเดียว (ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว เกี๊ยว บะหมี่ ฯลฯ) ซึ่งกินได้เลย ไม่จำเป็นต้องเรียกหา “กับข้าว”

โอทนํ” เหมือนข้าวเปล่า ซึ่งกินเปล่าๆ ไม่ได้ ต้องมี “กับข้าว”

สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” เหมือนกับข้าวเป็นอย่างๆ ที่ต้องกินกับข้าวเปล่า ไม่ใช่กินกับอาหารจานเดียว

เพราะฉะนั้น :

ถ้าเป็น “โอทนํ” ก็ต้องมี “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” = มีข้าวเปล่า ต้องมีกับข้าว

ถ้าเป็น “โภชนํ” ก็ไม่จำเป็นต้องมี “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” = มีอาหารจานเดียว ไม่ต้องมีกับข้าว

ในเมื่อคำบูชาข้าวพระมีคำว่า “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” จึงเป็นการบังคับอยู่ในตัวว่า คำที่ตามมาต้องเป็น “สาลีนํ  โอทนํ” จึงจะสมเหตุสมผล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รสอร่อยของอาหาร พาให้สุขสำราญแค่ปลายลิ้น

: แต่โทษที่เกิดจากการเห็นแก่กิน พาไปไกลถึงนรกอเวจี

#บาลีวันละคำ (2,003)

6-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *