คำบูชาข้าวพระ [5] (บาลีวันละคำ 2,004)
คำบูชาข้าวพระ [5] – โภชนํ ก็พอได้ แต่ไม่ใช่ โภชนานํ
คำว่า “ข้าวพระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ข้าวพระ : (คำนาม) อาหารคาวหวานที่จัดใส่สำรับสําหรับถวายพระพุทธ.”
คำบูชาข้าวพระนิยมกล่าวเป็นภาษาบาลี มีข้อความดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
อิมัง สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ.
แปลยกศัพท์ :
อหํ อันว่าข้าพเจ้า
ปูเชมิ ขอบูชา
โอทนํ ซึ่งข้าวสุก
สาลีนํ อันบริสุทธิ์ (คืออันดี, อันประณีต)
สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ
อุทกํ (และ) น้ำ
วรํ อันประเสริฐ
อิมํ นี้
พุทฺธสฺส แก่พระพุทธเจ้า
แปลโดยใจความ :
ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า
…………..
อภิปราย :
คำว่า “สาลีนํ โอทนํ” มักมีผู้ใช้ว่า “สาลีนํ โภชนํ”
ในที่นี้ขอสรุปว่า ใช้ “โภชนํ” (โภชนาหาร) ก็ได้ แต่ไม่สนิทแนบเนียนและสมเหตุสมผลเท่า “โอทนํ” (ข้าวสุก)
ดูความหมายและรายละเอียดของคำว่า “โอทนํ” และ “โภชนํ” ที่ “คำบูชาข้าวพระ [4] – โอทนํ” บาลีวันละคำ (2,003) 6-12-60
เคยได้ยินพิธีกรบางท่าน (หลายท่าน) ไม่ใช้ “โอทนํ” และไม่ใช้ “โภชนํ” แต่ใช้ว่า “โภชนานํ”
คำว่า “โภชนํ” (โพ-ชะ-นัง) ทำหน้าที่เป็น “กรรม” ในประโยค (คำหลักๆ ในประโยคภาษาที่เรารู้กัน คือ ประธาน กริยา กรรม)
สมมุติว่าใช้ “โภชนํ” รูปประโยคสมบูรณ์ในที่นี้ก็คือ “สาลีนํ โภชนํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอบูชา ซึ่งโภชนะอันประเสริฐ แก่พระพุทธเจ้า”
“สาลีนํ” เป็นคำขยาย “โภชนํ” = โภชนะอันประเสริฐ
“โภชนํ” เป็นกรรมในกริยา “ปูเชมิ” = บูชาซึ่งโภชนะ …
“โภชนํ” รูปศัพท์เดิมคือ “โภชน” (โพ-ชะ-นะ) เมื่อทำหน้าที่เป็น “กรรม” ตามกฎไวยากรณ์ต้องแจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เวลาแปลเป็นไทยใช้คำเชื่อมว่า “ซึ่ง-” คือแปลว่า “ซึ่งโภชนะ”
แต่ถ้าเป็น “โภชนานํ” (โพ-ชะ-นา-นัง) รูปศัพท์จะคลาดเคลื่อนทันที เนื่องจาก “โภชนานํ” เป็นรูปศัพท์ที่แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) และวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) พหูพจน์ ซึ่งไม่ใช่วิภัตติที่ทำหน้าที่เป็น “กรรม” ตามที่จะต้องเป็น
นอกจากนี้ คำว่า (1) “อิมํ” (2) “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” และ (3) “สาลีนํ” ซึ่งทำหน้าที่เป็นคำขยาย “โภชนํ” ก็ล้วนแต่แจกรูปด้วยวิภัตตินามที่สองทุกคำ เป็นการยืนยันว่าคำนามที่ถูกขยายคือ “โภชน” ต้องแจกรูปด้วยวิภัตตินามที่สองเช่นกัน คือเปลี่ยนเป็น “โภชนํ” (ถ้าใช้ “โอทน” ก็เป็น “โอทนํ”)
คำว่า “โภชนานํ” นอกจากจะไม่ใช่รูปของวิภัตตินามที่สองแล้ว ยังเป็นพหูพจน์อีกด้วย ในขณะที่คำขยายทั้ง 3 คำล้วนเป็นเอกพจน์ ซึ่งเป็นการผิดหลักไวยากรณ์ที่ว่าคำนามกับคำขยายต้องเป็นพจน์เดียวกัน
นี่คือกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากทางบาลีไวยากรณ์ซึ่งพิธีกรส่วนมากไม่เข้าใจและไม่มีความรู้พอที่จะเข้าใจได้
เพื่อความเข้าใจชัดยิ่งขึ้น ขอเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษที่คนไทยสมัยนี้เข้าใจง่ายกว่าภาษาบาลี
สมมุติคำไทยว่า “ผู้ชายหนึ่งคน” ภาษาอังกฤษคือ one man
one (หนึ่ง) เป็นคำขยาย man (ผู้ชาย)
“อิมํ” “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” “สาลีนํ” เทียบได้กับ one
“โภชนํ” เทียบได้กับ man
คราวนี้ “ผู้ชายหนึ่งคน” ถ้าพูดเป็นอังกฤษว่า one men ก็ผิดทันที เพราะ one (หนึ่ง) จะไปขยาย men (ผู้ชายหลายคน) ไม่ได้
“โภชนานํ” เทียบได้กับ men ในคำว่า one men นั่นเอง
นอกจากใช้เป็น “โภชนานํ” แล้ว ผู้เขียนบาลีวันละคำยังเคยได้ยินมีผู้ใช้เป็น “โภชนานานํ” (โพ-ชะ-นา-นา-นัง) อีกด้วย
ซ้ำมีผู้อธิบายเหตุผลให้ด้วยว่า อาหารที่บูชาข้าวพระมีหลายอย่าง จึงต้องใช้ว่า “โภชนานานํ” เพราะแปลว่า “โภชนะนานาชนิด”
“โภชนํ” เป็นคำที่ใช้ได้ (ถ้าจะไม่ใช้ “โอทนํ”)
“โภชนานํ” ก็เป็นคำที่มีใช้ในภาษาบาลี แต่ในบริบทอื่น ไม่ใช่ในที่นี้
แต่ “โภชนานานํ” รูปคำแบบนี้ไม่มีในภาษาบาลี ยิ่งแปลว่า “โภชนะนานาชนิด” อีกด้วย ก็ไปคนละโลกไปเลย
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยพยายามหาโอกาสชี้แจงคำผิดพลาดนี้ (“โภชนานํ” และ “โภชนานานํ”) กับพิธีกรบางท่านเป็นการส่วนตัว แต่ได้รับคำยืนยันว่า ครูบาอาจารย์ของท่านแนะนำมาอย่างนี้และใช้กันอย่างนี้มาหลายชั่วคนแล้ว (ก่อนที่ผู้เขียนบาลีวันละคำจะเกิดด้วยซ้ำ!) ไม่เห็นมีใครทักท้วงอะไร (เพราะฉะนั้น ก็ขอยืนยันว่าจะใช้ “โภชนานํ” หรือ “โภชนานานํ” ต่อไป)!!
ผู้เขียนบาลีวันละคำจึงได้แต่อุทานเอ็ดอึงอยู่ในใจว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก!
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ายอมรับว่าเขลา ก็ยังพอมีลาดเลาว่าจะฉลาด
: ถ้าไม่ยอมรับว่าผิดพลาด ก็หมดโอกาสที่จะแก้ตัว
#บาลีวันละคำ (2,004)
7-12-60