บาลีวันละคำ

บูรพารัสมิง (บาลีวันละคำ 793)

บาลีแบบไทยๆ

บูรพารัส์มิง” เป็นคำขึ้นต้นในบทสวดที่เรียกกันว่า “คาถาโพธิบาท” รูปและเสียงเหมาะที่จะเป็นบาลี

บูรพารัส์มิง” เป็นการเอาคำว่า “บูรพา” กับคำว่า “รัส์มิง” มาต่อกันเข้าตามภูมิปัญญาชาวบ้านผู้รู้บาลีแบบไทยๆ

บูรพา” บาลีเป็น “ปุพฺพ” (ปุบ-พะ) แปลว่า อดีต, เคยมีมาก่อน, แต่ก่อน, เบื้องหน้า, ตะวันออก

ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤต แผลง ปู เป็น บู แผลง เป็น = บูรพ แล้วยืดเสียงท้ายคำเป็น บูรพา ในที่นี้หมายถึงทิศตะวันออก

แล้ว “รัส์มิง” มาจากไหน ?

คำสวดคาถาโพธิบาทมี 10 ตอน ขึ้นต้นด้วยชื่อทิศทั้ง 8 ตามชื่อที่คุ้นกันในภาษาไทย และมี ปฐวี กับ อากาศ (เจตนาจะให้หมายถึงทิศเบื้องล่างกับเบื้องบน) เพิ่มเข้ามาอีก 2 ทิศ แล้วเอาคำว่า “รัส์มิง” ไปต่อท้ายชื่อทิศเป็น –

บูรพารัส์มิง … อาคเนย์รัส์มิง … ทักษิณรัส์มิง … หรดีรัส์มิง … ประจิมรัส์มิง … พายัพรัส์มิง … อุดรรัส์มิง … อีสานรัส์มิง … ปฐวีรัส์มิง … อากาศรัส์มิง

รัส์มิง” มาจากไหน และแปลว่าอะไร ?

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่เคยได้ยินว่ามีท่านผู้ใดอธิบายไว้เป็นประการใด จึงขอสันนิษฐานไปตามสติปัญญาเท่าที่จะพึงมีไว้ในที่นี้ว่า –

(1) คำว่า “บูรพารัส์มิง” เป็นต้น ดูตามเจตนาก็จะให้แปลว่า “ในทิศตะวันออก” (คำอื่นๆ ก็คือ-ในทิศนั้นๆ) ตามไวยากรณ์บาลีต้องแจกรูปด้วยวิภัตติที่ 7 คือ “สฺมึ” (สะหฺมิง ออกเสียง -สะ- กึ่งเสียง)

(2) ชื่อทิศทั้ง 10 นั้น เฉพาะทิศ “อุดร” ถ้าเขียนกลับเป็นบาลีจะเป็น “อุตฺตร” (อุด-ตะ-ระ) แจกรูปด้วย “สฺมึ” จะเป็น “อุตฺตรสฺมึ” (อุด-ตะ-รัด-สะหฺมิง) แปลว่า “ในทิศอุดร

(3) คนไทยเอาคำว่า “อุดร” ตามที่คุ้นปากไปประสมกับ “-รสฺมึ” ของบาลี ออกมาเป็น “อุดรรัส์มิง

(4) ภูมิปัญญาบาลีแบบไทยๆ เข้าใจว่า “-รสฺมึ” (ซึ่งคำเดิมมาจาก “อุตฺตรสฺมึ”) แปลว่า “ใน-” หรือ “ในทิศ-” จึงเอาไปต่อท้ายชื่อทิศอื่นๆ ด้วยเจตนาจะให้หมายถึง-ในทิศนั้นๆ จึงเกิดเป็นคำสวดว่า บูรพารัส์มิง … อาคเนย์รัส์มิง … ทักษิณรัส์มิง … ไปจนถึง “อากาศรัส์มิง

คำเตือน : การสันนิษฐานนี้อาจผิดได้ทั้งหมด

อนึ่ง โปรดทราบว่า คำสวดคาถาโพธิบาทเป็นบาลีปนไทย เฉพาะคำบาลีก็เอาเสียงมาโดยไม่เคร่งรูปคำ กล่าวคือไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า “เสียง” แบบนั้นจะเขียนอย่างไรจึงจะเป็นคำบาลีที่ถูกต้องและมีความหมายตามที่ต้องการ

คาถาโพธิบาทตามความรู้ความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ ข้อความควรเป็นดังนี้ –

บูรพารัส์มิง  พระพุทธะคุณัง, 

บูรพารัส์มิง  พระธรรมเมตตัง, 

บูรพารัส์มิง  พระสังฆาณัง, 

ทุกขะโรคะภะยัง  วิวัชชัยเย

สัพพะทุกข์  สัพพะโศก  สัพพะโรค  สัพพะภัย 

สัพพะเคราะห์  เสนียดจัญไร  วิวัชชัยเย

สัพพะธะนัง  สัพพะลาภัง  ภะวันตุ  เต 

รักขันตุ  สุรักขันตุ.

หมายเหตุ :

(1) เที่ยวต่อ ๆ ไปเปลี่ยน  บูรพารัส์มิง  เป็น  อาคเนย์รัส์มิง – ทักษิณรัส์มิง – หรดีรัส์มิง – ประจิมรัส์มิง –  พายัพรัส์มิง  อุดรรัส์มิง – อีสานรัส์มิง – ปฐวีรัส์มิง – อากาศรัส์มิง  นอกนั้นเหมือนกันหมด

(2) ถ้าสวดให้ตัวเองเปลี่ยนคำว่า เต เป็น เม

ความหมายในบทสวด :

ขออภิวาทพระพุทธองค์ผู้ทรงพระคุณ

ขอนมัสการพระธรรมอันเป็นบุญมีเมตตาเป็นที่ตั้ง

ขอนอบน้อมพระสงฆ์ผู้ทรงพลังอำนาจ

ขอทุกข์โศกโรคภัยเคราะห์ร้ายเสนียดจัญไรจงบำราศเร้นไปสิ้น

ขอทรัพย์สินและลาภผลทั้งปวง จงบังเกิดมีแก่ท่าน (แก่ข้าพเจ้า)

ขอคุณพระรัตนตรัยจงมาปกปักรักษาคุ้มครองทั่วทั้งสิบทิศ เทอญ

: สวดมนต์ช่วยให้บ้านเมืองสงบสุขได้จริงหรือไม่ ก็ช่างเถิด

: แต่สวดมนต์ช่วยให้ใจสงบได้จริง

—————–

(ตามคำขอของ Suwatchara Tawus)

#บาลีวันละคำ (793)

20-7-57

ต้นฉบับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *