บาลีวันละคำ

คัณฑิฆระ – หอระฆัง (บาลีวันละคำ 2,269)

คัณฑิฆระ – หอระฆัง

หนึ่งใน “ห้าหอ” ที่วัดต้องมี

อ่านว่า คัน-ทิ-คะ-ระ

ประกอบด้วยคำว่า คัณฑิ + ฆระ

(๑) “คัณฑิ

บาลีเป็น “คณฺฑิ” (คัน-ดิ) รากศัพท์มาจาก ฆฑิ (ธาตุ = กระทบ, ตี) + อิ ปัจจัย, แปลง ต้นธาตุเป็น , ลงนิคหิตอาคมแล้วแปลงนิคหิตเป็น ณฺ (ฆฑิ > คฑิ > คํฑิ > คณฺฑิ), ลบสระหน้า คือ ฆฑิ เป็น ฆฑ

: ฆฑิ > คฑิ > คํฑิ > คณฺฑิ > คณฺฑ + อิ = คณฺฑิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตี” หมายถึง ระฆัง (a bell); ฆ้อง (a gong)

(๒) “ฆระ

บาลีเป็น “ฆร” อ่านว่า คะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) ฆรฺ (ธาตุ = หลั่งไป) + ปัจจัย

: ฆรฺ + = ฆร แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หลั่งออกแห่งฝนคือกิเลส” (คือเป็นสถานที่มนุษย์เสพสังวาสกัน)

(2) คหฺ (ธาตุ = ถือเอา) + ปัจจัย, แปลง คห เป็น ฆร

: คหฺ + = คห > ฆร แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่อันเขาถือครอง

ฆร” (นปุงสกลิงค์) โดยตรงหมายถึง บ้าน (a house) แต่เมื่อนำไปต่อท้ายคำอื่นทำให้มีความหมายถึงสถานที่หรือของที่ทำขึ้นเพื่อใช้การเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ เช่น –

ชนฺตาฆร” (ชัน-ตา-คะ-ระ) หมายถึง ห้องร้อนสำหรับอบตัว, เรือนไฟ (a hot room for bathing purposes, a sitzbath)

สูจิฆร” (สู-จิ-คะ-ระ) หมายถึง กล่องใส่เข็ม (a needle case)

คณฺฑิ + ฆร = คณฺฑิฆร (คัน-ทิ-คะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่าว่า “เรือนแห่งระฆัง” หมายถึง อาคารขนาดเล็กที่สร้างไว้สำหรับแขวนระฆัง คือ “หอระฆัง” (belfry, bell tower)

คณฺฑิฆร” ในภาษาไทยใช้เป็น “คัณฑิฆระ

ขยายความ :

เมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว อารามก็มีสภาพเหมือนเป็นที่ชุมนุมพบปะกันของประชาชนหรือเป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากเป็นที่บำเพ็ญกุศลในโอกาสต่างๆ แล้วยังเป็นที่บอกกล่าวข่าวสารของชุมชนอีกด้วย จึงเกิดความคิดให้มีเครื่องมือส่งสัญญาณบอกข่าวขึ้นไว้ในอาราม ทางบ้านเมืองนิยมใช้ “กลอง” เป็นสัญญาณบอกข่าว ทางอารามจึงคิดใช้ “ระฆัง” เป็นสัญญาณบอกข่าว

หอระฆัง” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม สำหรับตีเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีกิจที่ควรทำหรือควรรับรู้เกิดขึ้นในอาราม

ต่อมา เมื่อภิกษุสงฆ์ประชุมกันทำกิจของสงฆ์อันเป็นกิจวัตรประจำวัน ชาววัดประสงค์จะให้ชาวบ้านรับรู้เพื่ออนุโมทนาก็ดี หรือมีกิจสำคัญเป็นพิเศษ ประสงค์จะให้ชาวบ้านรับรู้เพื่อมาร่วมด้วยช่วยกันทำก็ดี จึงตีระฆังเป็นสัญญาณ และกลายเป็นธรรมเนียมที่เมื่อสงฆ์ทำกิจวัตรประจำวันเช่นไหว้พระสวดมนต์เป็นต้น จะต้องตีระฆังเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านรับรู้และอนุโมทนาสืบมาจนทุกวันนี้

การสร้าง “หอระฆัง” ขึ้นในวัดจึงได้กลายเป็นแบบแผนในการสร้างวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน

และ “หอระฆัง” จึงเป็น “หอ” ที่สำคัญในบรรดา “ห้าหอ” ที่วัดต่างๆ อันสร้างถูกต้องตามแบบแผนจะต้องมี กล่าวคือ

(1) หอฉัน

(2) หอสวดมนต์

(3) หอระฆัง

(4) หอกลอง

(5) หอไตร

คำว่า “หอระฆัง” ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

หมายเหตุ: คำว่า “คัณฑิฆระ” เป็นคำที่ได้มาจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ซึ่งแปล “หอระฆัง” เป็นอังกฤษว่า belfry; bell tower และบอกคำบาลีว่า Gaṇḍighara

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่มีสัญญาณระฆังดังมาจากวัด

: นั่นคือสัญญาณวิบัติแห่งวิถีชีวิตสงฆ์ไทย

#บาลีวันละคำ (2,269)

29-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย