บาลีวันละคำ

อัญชลี วันทา อภิวาท (บาลีวันละคำ 1,504)

อัญชลี วันทา อภิวาท

คือทำกิริยาอย่างไร

(๑) “อัญชลี” (อัน-ชะ-ลี)

บาลีเป็น “อญฺชลิ” (อัน-ชะ-ลิ) รากศัพท์มาจาก อญฺชฺ (ธาต = ประกาศ, เปิดเผย; ไป, เป็นไป) + อลิ ปัจจัย

: อญฺชฺ + อลิ = อญฺชลิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาเป็นเครื่องประกาศความภักดี” (2) “กิริยาที่ประกาศความแจ่มแจ้ง” (คือประกาศความฉลาด) (3) “กิริยาที่เป็นไปเพื่อเชื่อมประสานเป็นอันเดียวกัน

ศัพท์นี้ในบาลีเป็น “อญฺชลี” (-ลี เสียงยาว) เหมือนในภาษาไทยก็มี

อญฺชลิอญฺชลี” หมายถึง การไหว้, ประคองอัญชลี, ยกมือขึ้นประนมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการนับถือกัน, บรรจงสิบนิ้วรวมกันเข้าและยกขึ้นถึงศีรษะ (extending, stretching forth, gesture of lifting up the hands as a token of reverence, putting the ten fingers together and raising them to the head)

(๒) “วันทา” (วัน-ทา)

บาลีเป็น “วนฺทนา” (วัน-ทะ-นา) รากศัพท์มาจาก วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วนฺทฺ + ยุ > อน = วนฺทน + อา > วนฺทนา แปลตามศัพท์ว่า “การไหว้” หมายถึง การสดุดี, การเคารพ, การไหว้; การยกย่อง, การบูชา (salutation, respect, paying homage; veneration, adoration)

ศัพท์นี้ในบาลีเป็น “วนฺทน” (วัน-ทะ-นะ) (นปุงสกลิงค์) ก็มี

(๓) “อภิวาท” (อะ-พิ-วาด)

บาลีเป็น “อภิวาทน” (อะ-พิ-วา-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = อย่างยิ่ง) + วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้) + ยุ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ วนฺท (วนฺท > วท), ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ < วนฺท) เป็น อา (วนฺท > วทฺ > วาท), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อภิ + วนฺทฺ = อภิวนฺทฺ + ยุ > อน = อภิวนฺทน > อภิวทน > อภิวาทน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “วิธีเป็นเครื่องไหว้อย่างยิ่ง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อภิวาทน” ว่า respectful greeting, salutation, giving welcome, showing respect or devotion (การอภิวาท, การสดุดี, การต้อนรับ, การแสดงความเคารพหรือจงรักภักดี)

ทั้ง 3 คำนี้ ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อัญชลี : (คำนาม) การประนมมือ, การไหว้, บางทีใช้เป็น อัญชุลี หรือ ใช้ละว่า ชุลี ก็มี. (ป., ส. อญฺชลิ).

(2) วันทา : (คำกริย) ไหว้, แสดงอาการเคารพ. (ป. วนฺท).

(3) อภิวาท, อภิวาทน์ : (คำนาม) การกราบไหว้. (ส., ป.).

อภิปราย :

๑ “วันทา” บาลีมีแต่ “วนฺทนา” และ “วนฺทน” ไม่พบที่เป็น “วนฺทา” ตรวจดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ไม่พบศัพท์ว่า “วนฺทา

สันนิษฐานว่าไทยเราคงคุ้นกับคำกริยา “วนฺทามิ” (วัน-ทา-มิ) ซึ่งแปลว่า “ข้าพเจ้าขอไหว้” แล้วเลยเอาเสียง วัน-ทา– มาใช้เป็น “วันทา

๒ “อภิวาท” ศัพท์นี้บาลีเป็น “อภิวาทน” แต่ใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “อภิวาท” บอกไว้ว่า –

อภิวาท, อภิวาทน : (คำนาม) การกราบไหว้; reverential salutation.”

๓ ในทางปฏิบัติ มีผู้แสดงความแตกต่างไว้ว่า –

1) อัญชลี คือ ประนมมือระหว่างอก (แต่ในบาลีพบว่า ประนมมือไว้บนศีรษะก็มี) (อยู่ในอิริยาบถยืนหรือนั่งก็ได้)

2) วันทา คือ ยกมือที่ประนมอยู่ขึ้นเสมอหน้าผาก ให้หัวแม่มืออยู่ระหว่างคิ้ว (อยู่ในอิริยาบถยืนหรือนั่งก็ได้)

3) อภิวาท ต้องอยู่ในอิริยาบถนั่ง คือ ประนมมือ (อัญชลี) ยกขึ้นเสมอหน้าผาก (วันทา) แล้วก้มตัวลงให้มือถึงพื้น (ตั้งสันมือหรือคว่ำฝ่ามือกับพื้นแล้วแต่กรณี)

๔ ถ้าดูคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ จะเห็นว่าทั้ง 3 คำนี้มีคำแปลไปในทำนองเดียวกัน และไม่ได้แสดงความแตกต่างในอาการที่กระทำ คงได้ความแต่เพียงว่าเป็นกิริยาแสดงความเคารพ

นั่นย่อมหมายความว่า กิริยาแสดงความเคารพของมนุษย์ย่อมแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละชาติ

อนึ่ง กิริยาแสดงความเคารพนั้นไม่พึงตีความไปว่าเป็นกิริยาแสดงความกลัวหรือการยอมจำนน ยอมอยู่ในอำนาจ เพราะมนุษย์ที่เจริญแล้วย่อมเคารพนับถือกันด้วยคุณธรรม มิใช่ด้วยความกลัวเยี่ยงสัตว์ต่อสัตว์

อัญชลี วันทา อภิวาท

: ไม่ใช่วัฒนธรรมทาส

: แต่เป็นมารยาทของอารยชน

17-7-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย