บาลีวันละคำ

บวชเนกขัมมะ (บาลีวันละคำ 1,503)

บวชเนกขัมมะ

เนกขัมมะ” คืออะไร

เนกขัมมะ” บาลีเขียน “เนกฺขมฺม” (เนก-ขำ-มะ) รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = ออก) + กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป) + ณฺย ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + กฺ + กมฺ), แปลง ต้นธาตุเป็น , แผลง อิ ที่ นิ เป็น เอ (นิ > เน), ลบ ณฺ ที่ ณฺ-(ย) ปัจจัย (ณฺย > ),แปลง มฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น มฺม

: นิ + กฺ + กมฺ = นิกฺกมฺ + ณฺย = นิกฺกมณฺย > นิกฺขมณฺย > เนกฺขมณฺย > เนกฺขมฺย > เนกฺขมฺม (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวออกไปเพื่อคุณอันวิเศษ

เนกฺขมฺม” หมายถึง การละโลกและไปสู่ชีวิตอันบริสุทธิ์, การออกบวช, การปลดเปลื้องจากโลกิยวิสัย, ความปลอดจากราคะ ความกระหาย และตัณหา, ความไม่มีกามกิเลส, การสลัดจากตนของตน, นิพพาน (giving up the world & leading a holy life, renunciation of, or emancipation from worldliness, freedom from lust, craving & desires, dispassionateness, self-abnegation, Nibbāna)

เนกฺขมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “เนกขัม” (เนก-ขำ) และ “เนกขัมมะ” (เนก-ขำ-มะ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เนกขัม, เนกขัมมะ : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) การออก, การออกจากกาม, การออกบวช. (ป. เนกฺขมฺม).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ที่คำว่า “เนกขัมมะ” บอกไว้ว่า –

เนกขัมมะ : การออกจากกาม, การออกบวช, ความปลอดโปร่งจากสิ่งล้อเร้าเย้ายวน (ข้อ 3 ในบารมี 10).”

และที่คำว่า “บารมี” จำกัดความ “เนกขัมมะ” ไว้ว่า “ความปลีกออกจากกามได้ ไม่เห็นแก่การเสพบำเรอ, การออกบวช”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [325] บารมี 10 หรือ ทศบารมี (ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้าและความเป็นมหาสาวก เป็นต้น) บารมีข้อ 3 “เนกขัมมะ” ขยายความไว้ว่า –

เนกขัมมะ : การออกบวช, ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม — Nekkhamma: renunciation”

…….

ปัจจุบันนี้ชาวพุทธนิยมจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรม คือไปอยู่ที่วัดหรือสำนักแห่งใดแห่งหนึ่ง นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล 8 เป็นเวลา 3 วัน 7 วัน หรือนานกว่านั้น เรียกกิจกรรมนี้ว่า “บวชเนกขัมมะ” บางทีก็เรียกว่า “บวชศีลจาริณี” (ดูเพิ่มเติม : “บวชศีลจาริณี” บาลีวันละคำ (1,035) 19-3-58)

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษ พระสงฆ์อยู่จำพรรษา ชาวบ้านบวชเนกขัมมะ ถ้าขยายเวลาไปให้ได้ 3 เดือนเท่ากับพระ จะยิ่งน่าอนุโมทนา

เป็นความจริงแท้ที่บัณฑิตไว้กล่าวว่า –

อยู่ครองเรือน เหมือนชามเล็ก จุของได้น้อย

ออกบวช เหมือนชามใหญ่ จุของได้มาก

…….

ดูก่อนภราดา!

: ชามเล็กที่เต็มด้วยบุญ

: ยังดวงใจให้อิ่มและอบอุ่นยิ่งกว่าชามใหญ่ที่ว่างเปล่า

16-7-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย