ปริเยสนา (บาลีวันละคำ 3,715)
ปริเยสนา
ปริเยสนา
เรากำลังแสวงหาอะไรกันอยู่?
“ปริเยสนา” เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า ปะ-ริ-เย-สะ-นา รากศัพท์มาจาก ปริ + เอสนา
(๑) “ปริ”
อ่านว่า ปะ-ริ เป็นคำอุปสรรค (คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)
(๒) “เอสนา”
อ่านว่า เอ-สะ-นา รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา; แสวงหา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ อิ-(สฺ) เป็น เอ (อิสฺ > เอส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อิสฺ + ยุ > อน = อิสน > เอสน + อา = เอสนา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความปรารถนา” (2) “การแสวงหา” หมายถึง ความปรารถนา, ความอยาก, ความต้องการ; การแสวงหา (desire, longing, wish; looking for)
ปริ + เอสนา ลง ย อาคมระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปริ + ย + เอสนา)
: ปริ + ย + เอสนา = ปริเยสนา (ปะ-ริ-เย-สะ-นา) แปลตามศัพท์ว่า “การแสวงหาไปรอบๆ” หมายถึง การค้นหาหรือตามหา, การไต่ถาม, การสอบถาม (search, quest, inquiry)
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “ปริเยสนา” ไว้ดังนี้ –
…………..
ปริเยสนา : การแสวงหา มี ๒ คือ
๑. อนริยปริเยสนา แสวงหาอย่างไม่ประเสริฐ ตนยังมีทุกข์ ก็ยังแสวงหาสภาพที่มีทุกข์
๒. อริยปริเยสนา แสวงหาอย่างประเสริฐ ตนมีทุกข์ แต่แสวงหาสภาพที่ไม่มีทุกข์ได้แก่นิพพาน;
สำหรับคนทั่วไป อธิบายว่า มิจฉาอาชีวะ เป็นอนริยปริเยสนา สัมมาอาชีวะ เป็นอริยปริเยสนา
…………..
และที่คำว่า “อนริยปริเยสนา” และ “อริยปริเยสนา” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
อนริยปริเยสนา : การแสวงหาที่ไม่เป็นอริยะ คือ แสวงหาสิ่งที่ยังตกอยู่ในชาติชรามรณะ หรือสิ่งที่ระคนอยู่ด้วยทุกข์ กล่าวคือ แสวงหาสิ่งอันทำให้ติดอยู่ในโลก, สำหรับชาวบ้านท่านว่า หมายถึงการแสวงหาในทางมิจฉาชีพ (ข้อ ๑ ในปริเยสนา ๒)
อริยปริเยสนา : การแสวงหาที่ประเสริฐคือแสวงหาสิ่งที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งชาติชรามรณะ หรือกองทุกข์ โดยความได้แก่แสวงหาโมกขธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์, ความหมายอย่างง่าย ได้แก่ การแสวงหาในทางสัมมาชีพ (ข้อ ๒ ในปริเยสนา ๒)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [33] ปริเยสนา 2 อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
ปริเยสนา 2 (การแสวงหา — Pariyesanā: search; quest)
1. อนริยปริเยสนา (แสวงหาอย่างไม่ประเสริฐ, แสวงหาอย่างอนารยะ คือ ตนเองเป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา ก็ยังใฝ่แสวงหาแต่สิ่งอันมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา — Anariya-pariyesanā: unariyan or ignoble search)
2. อริยปริเยสนา (แสวงหาอย่างประเสริฐ, แสวงหาอย่างอารยะ คือ ตนเป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา แต่รู้จักโทษข้อบกพร่องของสิ่งที่มีสภาพเช่นนั้นแล้ว ใฝ่แสวงธรรมอันเกษม คือ นิพพาน อันไม่มีสภาพเช่นนั้น — Ariya-pariyesanā: ariyan or noble search)
สองอย่างนี้ เทียบได้กับ อามิสปริเยสนา และ ธรรมปริเยสนา ที่ตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย; แต่สำหรับคนสามัญ อาจารย์ภายหลังอธิบายว่า ข้อแรกหมายถึงมิจฉาอาชีวะ ข้อหลังหมายถึง สัมมาอาชีวะ ดังนี้ก็มี.
…………..
ดูก่อนภราดา!
สรรพสิ่งที่ปรารถนา …
: แสวงหาไปไกลแสนไกล
: ที่แท้ก็อยู่ในหัวใจของเรานี่เอง
#บาลีวันละคำ (3,715)
14-8-65
…………………………….
…………………………….