วิมานฉิมพลี (บาลีวันละคำ 1,521)
วิมานฉิมพลี
คำบาลีที่ใช้อย่างไทย
อ่านว่า วิ-มาน-ฉิม-พะ-ลี (–พะ-ลี ไม่ใช่ พฺลี)
ประกอบด้วย วิมาน + ฉิมพลี
(๑) “วิมาน”
บาลีอ่านว่า วิ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก –
1) วิ (แทนศัพท์ว่า “วิห” = อากาศ) + มา (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วิ + มา = วิมา + ยุ > อน = วิมาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นเครื่องเดินทางไปในอากาศของพวกเทวดา”
2) วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ) + มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ; นับ, นับถือ; รัก, ปรารถนา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: วิ + มา = วิมา + ยุ > อน = วิมาน แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ที่อันกรรมกะกำหนดโดยพิเศษ”
(2) “ที่อันกรรมที่ประพฤติดีแล้วเนรมิตให้โดยพิเศษ”
(3) “ที่อันกรรมเนรมิตไว้โดยมีสัณฐานเหมือนนก” (คือล่องลอยอยู่บนฟ้า)
(4) “ที่อันพึงปรารถนาโดยพิเศษ”
(5) “ที่อันนับถือกันว่าวิเศษสุดเพราะประกอบด้วยความงดงามอย่างวิเศษ”
“วิมาน” ในบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) “รถ” อย่างเก่าในฐานเป็นยานของเทพยดาซึ่งขับขี่ไปได้ตามใจ (the old ratha [ = conveyance, carriage, vehicle] as chariot of the gods, to be driven at will)
(2) ปราสาทบนสวรรค์, แดนสวรรค์, แดนสุขาวดี (heavenly magic palace, a kind of paradise, Elysium)
“วิมาน” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิมาน : (คำนาม) ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา; ยานทิพย์. (ป., ส.).”
(๒) “ฉิมพลี”
บาลีเป็น “สิมฺพลี” (สิม-พะ-ลี) รากศัพท์มาจาก สมฺพฺ (ธาตุ = กลม, กลิ้ง) + อลี ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สมฺพ > สิมฺพ)
: สมฺพ > สิมฺพ + อลี = สิมฺพลี (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ไม้ที่ต้นกลม” หมายถึง ต้นงิ้ว (the silk-cotton tree Bombax heptaphyllum)
บาลี “สิมฺพลี” สันสกฤตเป็น “ศาลฺมลิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ศาลฺมลิ, ศาลฺมล, ศลฺมลิ : (คำนาม) ต้นนุ่น; ทวีปหนึ่งในจำนวนเจ็ด; the silk-cotton tree; one of the seven Dwipas.”
โปรดสังเกตว่า สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “ศาลฺมลิ” ว่า ต้นนุ่น ไม่ได้แปลว่า ต้นงิ้ว
สิมฺพลี > ศาลฺมลิ ไทยเราใช้อิงบาลีเป็น “ฉิมพลี” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ฉิมพลี : (คำนาม) ไม้งิ้ว. (ป. สิมฺพลิ; ส. ศาลฺมลิ).”
วิมาน + ฉิมพลี = วิมานฉิมพลี เป็นคำที่ผูกขึ้นตามเรื่องในวรรณคดีที่คนไทยเรารู้จักกันดี คือเรื่องกากี
เรื่องย่อๆ ว่า พญาครุฑอยู่ที่วิมานคือต้นฉิมพลีในแดนสวรรค์ แปลงตัวเป็นมาณพมาเล่นสกากับพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี แล้วขโมยนางกากีมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตไปเสพสมบนวิมานฉิมพลี
พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้นักดนตรีนามว่านาฏกุเวรออกสืบหานางกากี นาฏกุเวรได้เค้าก็ซ่อนตัวในปีกพญาครุฑไปถึงวิมานฉิมพลี และได้เสพสมนางกากีในเวลาที่พญาครุฑออกจากวิมานไปเล่นสกากับพระเจ้าพรหมทัตที่โลกมนุษย์
“วิมานฉิมพลี” จึงมีความหมายเป็นนัยๆ หมายถึงการลักลอบเสพสุขระหว่างชายหญิงที่ไม่ได้เป็นคู่ครองของกันและกันตามปกติ
เรื่องกากีนี้ต้นฉบับมีอยู่ในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา (อรรถกถาชาดก) เรียกชื่อว่า “กากาติชาดก”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วิมานฉิมพลีเป็นสวรรค์เพียงชั่วอึดใจ
: แต่ที่ยาวไกล-คือนรก
3-8-59