ชาคริยานุโยค (บาลีวันละคำ 803)
ชาคริยานุโยค
อ่านว่า ชา-คะริ-ยา-นุ-โยก
บาลีอ่านว่า ชา-คะ-ริ-ยา-นุ-โย-คะ
ประกอบด้วย ชาคริย +อนุโยค
“ชาคริย” รากศัพท์มาจาก ชาครฺ + อิย ปัจจัย
“ชาครฺ” เป็นธาตุ (รากศัพท์) จำกัดความเป็นคำบาลีว่า นิทฺทกฺขเย แปลว่า “สิ้นความหลับ” หมายถึง ความหลับหมดสิ้นไป คือไม่หลับ = ตื่น
“ชาคร” ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ตื่น, เฝ้าสังเกต, คอยเอาใจใส่, ระวังระไว, ตั้งตาคอยดู (waking, watchful, careful, vigilant)
“ชาคริย” จึงแปลว่า “อาการที่ตื่น” หมายถึง การตื่น, การตั้งตาคอยดู,
การทำให้ต้องตื่นอยู่, การเฝ้าสังเกต, การระวังระไว (waking, vigil, keeping awake, watchfulness, vigilance)
“ชาคริย” ในทางไวยากรณ์ เป็น “ชาคริยา” ก็ได้ (ความหมายเดียวกัน)
“อนุโยค” แปลตามศัพท์ว่า “การตามประกอบ” หรือ “การประกอบเนืองๆ” หมายถึง ความพยายาม, ความเพียร, พยายามซ้ำซาก, การทำความเพียรให้มาก, ความประกอบเนืองๆ (application, devotion, execution, practice)
ชาคริย +อนุโยค = ชาคริยานุโยค มีความหมายว่า การประกอบความเพียรโดยการตื่นอยู่เป็นนิตย์, การประกอบความเพียรโดยไม่เห็นแก่นอนมากนัก (application or practice of watchfulness) หรือ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำหน้าที่ให้สำเร็จ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชาคริยานุโยค : การประกอบความเพียรเพื่อจะชําระใจให้หมดจดไม่เห็นแก่นอนมากนัก”
ผู้มีชั่วโมงนอนน้อย-นอนมาก มีฐานะเป็นเช่นไร ผู้รู้บอกไว้ว่า
๏ บรรทมยามหนึ่งไซร้….ทรงฤทธิ์
หกทุ่มหมู่บัณฑิต……….ทั่วแท้
สามยามพวกพาณิช…….นรชาติ
นอนสี่ยามนั้นแล้………..เที่ยงแท้เดียรฉาน๚ะ๛
(โคลงโลกนิติ)
“ชาคริยานุโยค” เป็นคำที่มักใช้ในการปฏิบัติจิตภาวนา จึงไม่ค่อยคุ้นกันในภาษาไทย คำที่มีรากศัพท์เดียวกับคำนี้ที่พอจะคุ้นกันก็คือ “ชาคริต” เช่นในชื่อพระราชนิพนธ์เรื่อง “นิทราชาคริต” เป็นต้น
ชาคริยา ชาคริต ชาคร (คำหลังนี้อ่านแบบไทยว่า ชา-คอน ) เป็นคำที่มีความหมายดี เสียงเพราะ เหมาะสำหรับตั้งชื่อบุคคล
: ตื่นเพื่อทำหน้าที่ ผลดีคือหมดทุกข์
: ตื่นเพื่อเสพสุข จะพบความทุกข์อยู่ที่ปลายทาง
—————–
(ตามคำขอของพระคุณท่าน Sunant Pramaha ผู้ตื่นนาน)
#บาลีวันละคำ (803)
30-7-57