บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ยามดีท่านใช้ ยามไข้ท่านทิ้ง (๓)

ยามดีท่านใช้ ยามไข้ท่านทิ้ง (๓)

——————————

พระศาสนาของเราเรียวเร็วเหลือเกิน

ไปจัดการศพพี่ชายที่ประจวบฯ คราวนี้ มีเหตุกระทบใจ ๒ เรื่อง 

เรื่องที่หนึ่ง 

ผมตั้งใจบริจาคเงินบำรุงวัดที่เผาศพ คือวัดนิคมราษฎร์รังสรรค์ อำเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้กราบเรียนพระคุณเจ้าที่ทำหน้าที่ประสานการจัดการศพของวัดว่า เงินบำรุงวัดรวมทั้งปัจจัยถวายพระทุกรูปผมจะถวายด้วยวิธีปวารณา 

ตอนแรกพระคุณเจ้าแนะนำว่า โยมเอาเงินใส่ซองแล้วถวายพระที่ลงมาติกาบังสุกุลเลย เงินบำรุงวัดก็ถวายเจ้าอาวาสเลย

ผมยืนยันว่า ขอใช้วิธีปวารณาให้สงฆ์ทราบ ส่วนตัวเงินจะมอบให้แก่ไวยาวัจกร จะไม่ถวายใส่มือพระอย่างที่ชอบทำกัน 

พระคุณเจ้างง เหมือนกับจะไม่เข้าใจและไม่รู้จักวิธีปวารณา ไวยาวัจกรคือใครก็ดูเหมือนจะงงด้วย และเหมือนกับจะบอกว่าวัดนี้ไม่มีไวยาวัจกร

แต่ในที่สุดท่านก็หาคนมาทำหน้าที่รับเงินถวายพระและเงินบำรุงวัดให้จนได้ 

เรื่องที่สอง

ผมแสดงความจำนงขอบริจาคเงินบำรุงสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจวบคีรีขันธ์ 

ทางสถานคุ้มครองฯ แจ้งว่า ที่นี่ไม่มีนโยบายรับเงินสด การบริจาคต้องทำโดยวิธีโอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชี

เหตุผลที่ “ไม่มีนโยบายรับเงินสด” นั้นเข้าใจได้ไม่ยาก คือไม่ต้องการให้เกิดปัญหาตุกติก เช่นยักย้ายถ่ายเทเอาเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่เป็นต้น เมื่อรับ-จ่ายผ่านระบบของธนาคาร การเบียดบังเงินบริจาคก็ทำไมได้ เจ้าหน้าที่ไม่มีโอกาสจับตัวเงิน 

คำว่า “ไม่มีนโยบายรับเงินสด” กระทบใจผมมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกรณีถวายเงินบำรุงวัดที่พระท่านแนะนำให้เอาเงินสดใส่ซองถวายเจ้าอาวาสไปตรงๆ 

เกิดเป็นภาพเปรียบเทียบขึ้นในใจ 

– พระ (วัด) รับเงินสด

– ฆราวาส (หน่วยราชการ) ไม่รับเงินสด

เรื่องมันควรจะกลับกัน

คือ พระไม่ควรรับเงิน เนื่องจากมีสิกขาบทบัญญัติห้ามไว้ชัดเจน เป็นที่รู้กัน

ฆราวาสควรรับเงินได้โดยตรง เพราะไม่มีกฎหมายหรือข้อห้ามใดๆ ว่า ฆราวาสห้ามรับเงินหรือจับเงิน

แล้วทำไมจึงไม่เป็นอย่างนั้น?

ก็เพราะ “วิธีคิด” ที่แตกต่างกัน 

หน่วยงานราชการแห่งนี้คิดหาวิธีที่จะไม่ให้เกิดการกระทำผิด-คือทุจริตเรื่องเงิน แล้วก็พบวิธีนั้น

แต่พระหรือคณะสงฆ์ลงมือกระทำผิดแล้วคิดหาเหตุผลมาอ้างว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความจำเป็นและไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือไม่ควรถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย-โดยเฉพาะในสภาพสังคมปัจจุบัน 

นี่คือวิธีคิดที่ต่างกัน

ทางราชการคิดหาวิธีที่จะไม่กระทำผิด

ทางพระคิดหาเหตุผลเพื่อจะกระทำผิด 

………………….

เรื่องรับเงิน-ใช้เงินนี้เป็นเรื่องกระทบวัด และกระทบใจพระเณรมาก 

พระเณรสมัยนี้จำเป็นต้องใช้เงิน วัดจำเป็นต้องใช้เงิน

นี่ต้องยอมรับ อย่าปฏิเสธ 

แต่สิกขาบทที่ห้ามพระเณรรับเงิน-ใช้เงิน ก็มีปรากฏชัดเจน ปฏิเสธไม่ได้ 

พระวินัยกำหนดทางออกให้ โดยให้ใช้วิธี “ปวารณา” และให้มีไวยาวัจกร แต่กระนั้น ความไม่สะดวกไม่คล่องตัวก็มีอยู่เป็นอันมาก-โดยเฉพาะในสภาพสังคมปัจจุบัน 

เป็นเรื่องน่าคิดหรือน่าประหลาดมาก เท่าที่ผมสังเกต ยังไม่ปรากฏว่ามีใครพยายามคิดหาวิธีช่วยให้พระเณรปฏิบัติตามสิกขาบทข้อนี้ได้เป็นอย่างดีด้วย ทั้งยังคงมีความคล่องตัวอยู่ในสภาพสังคมปัจจุบันได้ด้วย 

สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจวบคีรีขันธ์รับเงินบริจาคโดยวิธีไม่รับเงินสด ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมา 

ถ้าหน่วยราชการ-ซึ่งไม่มีข้อห้ามไม่ให้คนรับเงินจับเงิน-เขายังสามารถคิดหาวิธีรับเงินบริจาคโดยไม่ให้ข้าราชการต้องรับตัวเงินจับตัวเงินได้

ก็แล้วทำไมคณะสงฆ์-ซึ่งมีข้อห้ามไม่ให้พระเณรรับเงินจับเงินปรากฏชัดเจนอยู่แท้ๆ-จะคิดหาวิธีรับเงินจากญาติโยมโดยไม่ต้องให้พระเณรรับตัวเงินจับตัวเงินตรงๆ ไม่ได้

มันไม่มีวิธี หรือว่าไม่คิดจะหาวิธีกันแน่?

นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่โยงไปถึง พศ. (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)

โดยหลักการที่มีหน่วยงานแห่งนี้เกิดขึ้นมา พศ. ต้องทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกรของคณะสงฆ์

ถอยไปตั้งหลักกันที่-วัดทุกวัดต้องมีไวยาวัจกร

ตำแหน่ง “ไวยาวัจกร” มีระบุไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และมีกฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร

“วัดทุกวัดต้องมีไวยาวัจกร” จึงเป็นความจำเป็นทั้งทางกฎหมายและทางพระธรรมวินัย

และหมายความว่า พศ. ต้องเป็นหน่วยรับผิดชอบจัดหาไวยาวัจกรประจำวัดต่างๆ ในกรณีที่วัดนั้นๆ ไม่สามารถหาไวยาวัจกรได้

อนึ่ง ไวยาวัจกรนั้นควรมีค่าตอบแทนตามสมควร จะเรียกว่าเงินเดือนหรืออะไรก็ได้ ไม่ใช่ทำงานเอาบุญอย่างเดียว

และนั่นหมายความว่า วัดทุกวัดจะอ้างไม่ได้ว่า-วัดนี้ไม่มีไวยาวัจกร

เมื่อมีไวยาวัจกรแล้ว การรับ-จ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นเงินวัดหรือเงินส่วนตัวของพระเณร ให้เป็นหน้าที่ของไวยาวัจกร 

ปัญหาเรื่องพระเณรรับเงินใช้เงินผิดพระธรรมวินัย จะได้เลิกพูดเลิกตำหนิกันเสียที

หากเกิดความไม่คล่องตัวในกรณีใดๆ – (แน่นอนจะต้องมีเสียงค้านว่า รับเองจ่ายเองสะดวกกว่า นี่มันโลกยุคดิจิตอลแล้วลุง) – ก็ต้องช่วยกันใช้สติปัญญาคิดหาวิธีการที่จะอำนวยให้เกิดความสะดวกคล่องตัวไม่น้อยไปกว่ารับเองจ่ายเอง

ก็เพราะมันเป็นโลกยุคดิจิตอลนั่นเอง เราจึงควรจะสามารถคิดค้นหาวิธีการที่จะให้เกิดความสะดวกคล่องตัวได้พร้อมไปกับรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ด้วย

ลองนึกเทียบดูง่ายๆ บัตรเอทีเอ็มใบเดียว กดเงินที่ตู้นี้ ในพริบตานั้นข้อมูลจะไปปรากฏในทุกตู้เอทีเอ็มในเมืองไทย (หรือในโลกด้วยแล้วกระมัง) ไม่ต้องรอรายงาน ไม่ต้องรอสเตทเม้นต์ ทำได้ไง 

แค่พระรับเงินจ่ายเงินโดยไม่ต้องจับตัวเงิน ทำไมจะทำไม่ได้ 

ผมเคยเสนอแนวคิดให้พระถือ “บัตรปวารณา” เหมือนบัตรเอทีเอ็ม 

นึกออกไหม เวลาเราไปกินข้าวในร้านในห้างที่ต้องใช้คูปอง สั่งอาหาร ยื่นบัตร คนขายเอาไปรูด แล้วบอกเราว่าเหลือกี่บาท นั่นคือเราจ่ายเงินโดยไม่ต้องจับเงิน 

“บัตรปวารณา” ก็ใช้หลักเดียวกัน

เพียงแต่ว่าคูปองนั้นเราต้องหยิบเงินไปแลกก่อน จึงจะได้คูปองตามมูลค่าของเงิน

ตอนเอาเงินใส่ใน “บัตรปวารณา” ไวยาวัจกรจะทำหน้าที่จัดการให้ พระเณรเจ้าของเงินไม่ต้องจับเงินเอง

บัตรนี้กดเป็นตัวเงินไม่ได้ ใช้ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามรายการที่กำหนดไว้ในบัตรเท่านั้น จ่ายนอกเรื่องไม่ได้ 

เป็นการควบคุมความต้องการไปในตัวว่า ในวิถีชีวิตสงฆ์นั้นอะไรบ้างที่จำเป็นต้องจ่าย อะไรบ้างที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น

แน่นอน วิธีนี้อุปสรรคเยอะแน่ 

ไม่ใช่อุปสรรคทางเทคนิค 

แต่เป็นอุปสรรคที่เกิดจากความคิดของพระเณรเอง 

ไม่เอา 

ไม่ดี 

ไม่คล่องตัว 

ยุ่งยาก มากเรื่อง 

รับเองจ่ายเองแบบนี้แหละสะดวกดีแล้ว 

อาบัติก็แค่เล็กๆ น้อยๆ 

ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต 

แลกกับความสะดวกแล้วคุ้มค่ากว่ากันเยอะ 

เรื่องสำคัญกว่านี้ที่ควรแก้ไขยังมีอีกเยอะแยะ 

ทำไม่จะต้องมายุ่งกับเรื่องไม่เป็นเรื่องแบบนี้ 

ไร้สาระ 

ฯลฯ

นี่ไงคือที่ผมว่า –

ทางราชการคิดหาวิธีที่จะไม่ให้คนของเขากระทำผิด

แต่ทางพระคิดหาเหตุผลที่จะบอกว่าถึงทำผิดก็ไม่เป็นไร

………………….

ผมอยากให้เราศึกษาบรรยากาศการประชุมทำปฐมสังคายนา (ปัญจสติกขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐)

ในตอนท้ายของการประชุม พระอานนท์เสนอเรื่องมีพุทธานุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อย

พระอรหันต์ ๕๐๐ ที่เป็นองค์ประชุมท่านได้จำลองสถานการณ์ให้เราดูแล้วว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสงฆ์มีมติให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อย 

นั่นคือ ในที่สุดแล้วสิกขาบท ๒๒๗ ข้อจะถูกถอนจนเหี้ยนเตียน 

เหลือแค่ปาราชิก ๔ ข้อเท่านั้น

และนั่นก็หมายความว่า ถ้าเราในปัจจุบันนี้เห็นว่าเรื่องรับเงินจ่ายเงินเองเป็นเรื่องเล็กน้อย จะมามัวหยุมหยิมไร้สาระอยู่ทำไม ก็เชื่อได้ว่าในอนาคตกาลอันไม่ไกล สิกขาบทต่างๆ จะถูกตีความว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดแม้แต่ปาราชิกก็จะไม่เหลือ

………………….

หลักของผมก็คือ อะไรส่วนไหนที่สามารถปฏิบัติได้เพื่อการรักษาพระธรรมวินัย ก็จะพยายามถวายกำลังใจให้พระเณรมีอุตสาหะในการรักษาปฏิบัติ 

ต่อเมื่อเข้าตาจนจริงๆ จึงค่อยละเมิดเฉพาะครั้งนั้นคราวนั้น แล้วตั้งต้นสำรวมระวังกันใหม่ 

ที่ผมกราบเรียนพระคุณเจ้าวัดนิคมราษฎร์รังสรรค์ว่าจะขอถวายปัจจัยด้วยวิธีปวารณา ไม่เอาเงินส่งถึงมือพระอย่างที่ชอบทำกัน ก็เพราะเห็นว่าการปวารณาเป็นวิธีที่สามารถทำได้ 

และเป็นการถวายกำลังใจแก่พระให้ฉุกคิดว่า เมื่อโยมพยายามช่วยพระรักษาวินัยถึงเพียงนี้ พระก็ควรจะมีกำลังใจรักษาวินัยในส่วนของพระให้แข็งแรงยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

………………….

นึกถึงสมัยเป็นเด็กวัดเมื่อ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา พระและชาวบ้านสมัยโน้นเข้าใจเรื่องปวารณาและถือเคร่งมากในเรื่องนี้ มีงานสวดมนต์ฉันเช้าฉันเพลที่ไหน ฉันเสร็จ ถวายเครื่องไทยธรรมแล้วต้องปวารณาก่อนยะถาสัพพีเสมอไป ถ้าเผลอลืม ชาวบ้านที่รู้ธรรมเนียมก็จะทักขึ้น บางทีพระนั่นเองเป็นฝ่ายทัก – โยม ปวารณาก่อน 

แค่ประมาณครึ่งศตวรรษผ่านไป พระและวัดเดี๋ยวนี้แทบจะไม่รู้จักวิธีปวารณากันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงชาวบ้าน 

พระศาสนาของเราเรียวเร็วเหลือเกิน

ทั้งหมดนี้คือเหตุกระทบใจที่เกิดขึ้นระหว่างไปจัดการศพพี่ชายที่ประจวบฯ 

ถ้าที่เขียนมานี้ไปกระทบใจพระคุณท่านรูปใด กราบขออภัยเป็นอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นี้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓

๑๘:๒๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *