ยาม (บาลีวันละคำ 802)
ยาม
อ่านว่า ยาม
บาลีอ่านว่า ยา-มะ
“ยาม” รากศัพท์มาจาก –
(1) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ม ปัจจัย = ยาม แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่ดำเนินไปตามปกติ”
(2) ยมุ (ธาตุ = กำหนด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ : อ (ที่ ย-) เป็น อา
: ยมฺ + ณ = ยม > ยาม แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นเครื่องกำหนดวันและคืน”
คำว่า “ยาม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ชื่อส่วนแห่งวัน ยามหนึ่งมี ๓ ชั่วโมง รวมวันหนึ่งมี ๘ ยาม; ในบาลีแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ยาม ยามหนึ่งมี ๔ ชั่วโมง เรียกว่า ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม
(2) (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) ช่วงแห่งวัน เป็นเวลายามละชั่วโมงครึ่ง กลางวันมี ๘ ยามตามลำดับคือ สุริยะ ศุกระ พุธะ จันเทา เสารี ครู ภุมมะ สุริยะ กลางคืนมี ๘ ยามตามลำดับคือ รวิ ชีโว ศศิ ศุโกร ภุมโม โสโร พุโธ รวิ
(3) คราว, เวลา, เช่น ยามสุข ยามทุกข์ ยามเช้า ยามกิน
(4) คนเฝ้าสถานที่หรือระวังเหตุการณ์ตามกําหนดเวลา เช่น แขกยาม ไทยยาม คนยาม, เรียกอาการที่อยู่เฝ้าสถานที่หรือระวังเหตุการณ์เช่นนั้นว่า อยู่ยาม หรือ เฝ้ายาม
“ยาม” ตามความหมายข้อ (4) น่าจะมาจากการอยู่เฝ้าระวังเหตุการณ์ตาม “ยาม” คือตามเวลาที่กําหนด จึงเรียกผู้ทำหน้าที่เช่นนั้นว่า “ยาม” ไปด้วย
ในทางธรรม ผู้รู้เปรียบวันวัยไว้ว่า “ชีวิตเหมือนยาม” กล่าวคือ –
(1) ปฐมยาม เหมือนปฐมวัย (วัยต้น) 33 ปี คือ อายุ 1 ถึง 33 ปี
(2) มัชฌิมยาม เหมือนมัชฌิมวัย (วัยกลาง) 34 ปี คืออายุ 34 ถึง 67 ปี
(3) ปัจฉิมยาม เหมือนปัจฉิมวัย (วัยปลาย) 33 ปี คือ อายุ 68 ปี ถึง 100 ปี
: สามยามในชีวิต อย่าให้ผิดหมดทั้งสาม
: เกิดมาทั้งที่ เอาดีให้ได้สักยาม
#บาลีวันละคำ (802)
29-7-57