หอศาสตราคม (บาลีวันละคำ 2494)
หอศาสตราคม
ประกอบด้วยคำว่า หอ + ศาสตร + อาคม
(๑) “หอ”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หอ : (คำนาม) เรือนหรืออาคารซึ่งใช้เฉพาะกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หอพระ หอนั่ง หอสมุด; เรือนซึ่งปลูกสําหรับให้คู่บ่าวสาวที่แต่งงานกันแล้วอยู่ เรียกว่า เรือนหอ.”
(๒) “ศาสตร”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ
: สสฺ + ถ = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)
(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถ ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ
: สรฺ + ถ = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)
(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ถ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ
: สาสฺ + ถ = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชาความรู้ (science, art, lore)
ในที่นี้ “ศาสตร” อาจมีความหมาย 2 อย่าง คือ
(ก) หมายถึง “ของมีคม” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (1) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”
ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศัสตรา” และ “ศาสตรา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ศัสตรา, ศัสตราวุธ : (คำนาม) ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธต่าง ๆ. (ส.).
(2) ศาสตรา : (คำนาม) ศัสตรา.
(ข) หมายถึง “วิชาความรู้” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (3) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศาสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”
ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศาสตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”
(๒) “อาคม”
บาลีอ่านว่า อา-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก อา + คมฺ (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย
: อา + คมฺ = อาคม + อ = อาคม แปลตามศัพท์ว่า “การมา” “สิ่งที่มา”
“อาคม” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การมา, การเข้าใกล้, บรรลุ (coming, approach, result)
(2) สิ่งที่คนอาศัย, ทรัพยากร, หนทาง, ที่อ้างอิง, แหล่งสำหรับอ้างอิง, ตำรา, คัมภีร์, พระบาลี (that which one goes by, resource, reference, source of reference, text, Scripture, Canon)
(3) กฎ, ข้อปฏิบัติ, วินัย, การเชื่อฟัง (rule, practice, discipline, obedience)
(4) ความหมาย, ความเข้าใจ (meaning, understanding)
(5) การใช้คืน (ซึ่งหนี้สิน) (repayment [of a debt])
(6) เป็นศัพท์เฉพาะทางไวยากรณ์ = “เพิ่มเข้าไป”, พยัญชนะหรือพยางค์ที่เพิ่มขึ้นหรือใส่เข้าไป (as gram. = “augment”, a consonant or syllable added or inserted)
บาลี “อาคม” สันสกฤตก็เป็น “อาคม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อาคม : (คำนาม) การมาถึง; ศาสตร์; บทหลัง; พยางค์ขยาย; เอกสารหรือหนังสือสำคัญ; arrival; a science; suffix, a grammatical augment; a voucher or written testimony.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“อาคม : (คำนาม) เวทมนตร์, บางทีใช้คู่กับ คาถา เป็น คาถาอาคม; การมา, การมาถึง, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น มีนาคม คือ มีน + อาคม แปลว่า การมาถึงราศีมีน. (ป., ส.).”
ศาสตร + อาคม = ศาสตราคม แปลได้ 2 ความหมาย คือ (1) “เวทมนตร์เพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งอาวุธ” (2) “การบรรลุวิทยาคือพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์”
“หอศาสตราคม” มีความหมายตามประสงค์ว่า “หออันเป็นสถานที่ประกอบเวทมนตร์เพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งอาวุธ” หรือ “หออันเป็นสถานที่สวดสาธยายพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์”
ขยายความ :
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 74 อธิบายเรื่อง “หอศาสตราคม” ไว้ดังนี้
…………..
หอศาสตราคม เป็นหอขนาดเล็กหลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบสี อยู่ริมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก เดิมเป็นพระที่นั่งโถงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งแล้วสร้างหอศาสตราคมขึ้น สำหรับให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายมาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อถวายพระมหากษัตริย์สรงพระพักตร์ และสรงเป็นประจำวัน ตลอดจนประพรมรอบพระมหามณเฑียร คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ในรัชกาลที่ ๔ – ๕ – ๖ และรัชกาลที่ ๗ มีการสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวัน เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา ต่อมาในรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลปัจจุบัน ได้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายรามัญ ๕ รูป มาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวันธรรมสวนะ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา เสร็จแล้วนิมนต์พระสงฆ์ ๑ รูป ประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรครั้งหนึ่ง และนิมนต์พระพิธีธรรมจาก ๑๐ วัด คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร วัดระฆังโฆสิตาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดอนงคาราม และวัดราชสิทธาราม จำนวนวัดละ ๕ รูป ผลัดเปลี่ยนกันมาสวดทำน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้งในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา น้ำพระพุทธมนต์ทั้งสองเวลานี้รวมเก็บไว้ในหม้อน้ำมนต์เพื่อจัดไปถวายสรงทุกวันตามราชประเพณีที่ได้เคยปฏิบัติสืบมา
น้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคมนี้ กรุงเทพมหานครกราบบังคมทูลขอพระราชทานนำไปเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่าง ๆ ๗๖ จังหวัดทั่วราชอาณาจักร สำหรับถวายสรงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๙ วาระครบรอบนักษัตร คือ ๖ รอบ ๗ รอบ
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ กรุงเทพมหานคร ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคม นำไปรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่าง ๆ ๗๖ จังหวัดทั่วราชอาณาจักร สำหรับถวายในพระราชพิธีครั้งนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความจงรักภักดีโดยสุจริต
: เป็นศาสตราคมอันศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดิน
#บาลีวันละคำ (2,494)
11-4-62