บาลีวันละคำ

สมโณ โน ครุ (บาลีวันละคำ 2493)

สมโณ โน ครุ

ข้อ 10 ในกาลามสูตร: ครูของข้า

อ่านว่า สะ-มะ-โน โน คะ-รู-ติ

หลักข้อที่ 10 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา สมโณ โน ครูติ” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา สะมะโณ โน คะรูติ

แปลว่า “ท่านทั้งหลายอย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

สมโณ โน ครูติ” (สะ-มะ-โน โน คะ-รู-ติ) ประกอบด้วยคำว่า “สมโณ” “โน” “ครุ” “อิติ

(๑) “สมโณ” (สะ-มะ-โน)

รูปคำเดิมเป็น “สมณ” (สะ-มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

(๒) “โน

เป็นปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อุตตมบุรุษ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ)

อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “โน” แปลว่า “ของเราทั้งหลาย” หรือ “ของพวกเรา

แทรกความรู้พิเศษ :

ตุมฺห” (ปุริสสรรพนาม “มัธยมมบุรุษ” = you) แจกด้วยวิภัตตินามที่หก เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เต” พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “โว” และ “อมฺห” (ปุริสสรรพนาม “อุตตมบุรุษ” = I) แจกด้วยวิภัตตินามที่หก เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เม” พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “โน” นักเรียนบาลีท่องจำติดปากว่า “เต, เม, โว, โน

มีกฎทางไวยากรณ์อยู่ว่า “เต, เม, โว, โน” ดังกล่าวนี้ เมื่อนำไปใช้เป็นรูปประโยค ห้ามใช้เป็นคำที่หนึ่งในประโยค แต่มักใช้เป็นคำที่สองในประโยคเสมอ เช่น “อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ” (อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ = ขอบุญนี้จงถึงแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า)

จะใช้เป็น “เม อิทํ ญาตีนํ โหตุ” อย่างนี้ไม่ได้ ผิดกฎ

(๓) “ครุ” (คะ-รุ)

รากศัพท์มาจาก –

(1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย

: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น

(2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)

: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครุ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)

(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)

(3) คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

(๔) “อิติ” (อิ-ติ)

เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม

ถ้าจะแสดงรากศัพท์ ท่านว่า “อิติ” มาจาก อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย

: อิ + ติ = อิติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “สิ่งที่ไป” “สิ่งเป็นเครื่องไป

ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –

(1) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้

(2) ว่าดังนี้

(3) ด้วยประการนี้

(4) ชื่อ

(5) คือว่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรงๆ แต่บอกไว้ว่า –

(1) “thus” (เช่นนั้น)

(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้)

(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ)

การประกอบประโยค :

กาลามสูตรข้อนี้ไม่มีการประสมคำ ยกเว้น ครุ + อิติ = ครูติ แต่เอาคำมาประกอบกันเป็นประโยคว่า “มา สมโณ โน ครูติ

ประโยคเต็มรูปว่า “มา สมโณ โน ครูติ คณฺหิตฺถ.”

แปลยกศัพท์: (ตุมฺเห อันว่าท่านทั้งหลาย) มา คณฺหิตฺถ จงอย่าถือเอา (โดยนับถือ) ว่า “(อยํ) สมโณ อันว่าสมณะ (นี้) ครุ เป็นครู โน ของเราทั้งหลาย  (โหติ ย่อมเป็น) อิติ ดังนี้

แปลสรุปความ: ท่านทั้งหลายอย่าเชื่อถือโดยอ้างว่าท่านผู้นี้เป็นครูของพวกเรา

คัมภีร์อรรถกถาไขความคำว่า “มา สมโณ โน ครูติ” ว่า –

“อยํ  สมโณ  อมฺหากํ  ครุ  อิมสฺส  กถํ  คเหตุํ  ยุตฺตนฺติปิ  มา  คณฺหิตฺถ.” (มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 2 หน้า 299)

แปลว่า: อย่าเชื่อถือเพราะเห็นว่าสมณะรูปนี้เป็นครูของเรา คำของท่านเชื่อได้แน่

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา สมโณ โน ครูติ” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by the idea, ‘This is our teacher’.

อภิปราย :

กาลามสูตรข้อนี้คือข้อที่ถูกนำไปอ้างกันอย่างแพร่หลายว่า กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู

โปรดช่วยกันรับทราบว่า คำอ้างนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรง

กาลามสูตรสอนไม่ได้สอนเลยว่า อย่าเชื่อครู หรือสอนไม่ให้เชื่อครู

กาลามสูตรสอนว่า อย่าเชื่อเพราะนับถือ หรือโดยอ้างเหตุผลว่า “เพราะท่านผู้นี้เป็นครู จึงต้องเชื่อ”

กาลามสูตรสอนว่าอย่าอ้างแบบนี้ เพราะครูที่เชื่อได้ก็มี เชื่อไม่ได้ก็มี เมื่อจะเชื่อต้องมีเหตุผลประกอบอีกหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่อ้างว่า “เพราะท่านเป็นครู จึงต้องเชื่อ”

เวลานี้สังคมไทยเกิดความคิดเห็นอย่างใหม่ คือเห็นว่าพิธีไหว้ครูเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่จำเป็นต้องทำ ความคิดเห็นแบบนี้จึงเข้ากันได้ดีกับความเชื่อผิดๆ ที่อ้างว่ากาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู

นอกจากกาลามสูตรจะ “ไม่ได้สอนว่าอย่าเชื่อครู” แล้ว หลักธรรมในพระพุทธศาสนายังสอนให้ศิษย์ปฏิบัติต่อครูด้วยความเคารพอย่างยิ่งอีกด้วย ซึ่งเป็นการตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับที่เอาไปอ้างว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้เห็นคุณค่าของครู

: คือผู้เห็นคุณค่าของคน

#บาลีวันละคำ (2,493) 10-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *