นานาชาติ (บาลีวันละคำ 807)
นานาชาติ
บาลีไทยที่ไกลบาลีแท้
อ่านว่า นา-นา-ชาด
ประกอบด้วย นานา + ชาติ
คำว่า “นานาชาติ” มักใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง สิ่งที่จัดขึ้นทำขึ้นโดยมีคนหลายชาติหลายภาษาทั่วโลกมาร่วมในกิจกรรมนั้นๆ เช่น โรงเรียนนานาชาติ มหาวิทยาลัยนานาชาติ การแข่งขันในระดับนานาชาติ
“นานา” ในบาลีแปลตามศัพท์ว่า “อย่างนั้นอย่างนี้” คือ ต่างๆ, หลายอย่าง, ปนกันหลายอย่าง, ทุกชนิด (different, divers, various, motley)
“ชาติ” รากศัพท์มาจาก ชน (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ –
(1) แปลง ชน (ชะ-นะ) เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
(2) แปลง “น” (ที่ ชน) เป็น อา : (ช)น > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural (opp. artificial); genuine, pure, excellent (opp. adulterated, inferior))
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้
(1) การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า
(2) กําเนิด เช่น มีชาติมีสกุล
(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์ เช่น ชาติเสือ ชาติขี้ข้า
(4) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่
(5) รส เช่น ไม่เป็นรสไม่เป็นชาติ
(6) ประเทศ
(7) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน
(8) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิมหรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ
แม้ พจน.ฯ จะบอกความหมายไว้หลายอย่าง รวมทั้งที่ตรงตามความหมายเดิมในบาลี แต่เมื่อเอ่ยคำว่า “ชาติ” จะเข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึง บ้านเมือง, ประเทศ
ในภาษาบาลี ความหมายเด่นของ “ชาติ” คือ การเกิด (birth, rebirth) เช่นในคำว่า ชาติปิ ทุกฺขา = การเกิดเป็นทุกข์
ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “ชาติ” คือ บ้านเมือง, ประเทศ (country) เช่นในคำว่า ประเทศชาติ ชาติไทยของเรา และแม้ในคำว่า “นานาชาติ” นี้เอง ก็ใช้คำว่า “ชาติ” ในความหมายว่า ประเทศ
“นานาชาติ” ตามบาลีแท้ ต้องแปลว่า “การเกิดต่างๆ กัน” เช่น เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์เดรฉัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต ฯลฯ
ไม่ได้แปลว่า คนต่างประเทศต่างภาษามาทำกิจกรรมร่วมกันดังที่ต้องการจะให้มีความหมายเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม เคยมีผู้รู้บาลีในเมืองไทยแปลคำว่า “ชาติไทย” ( = ประเทศไทย) เป็นบาลีว่า “ทยฺยชาติ” (ไท-ยะ-ชา-ติ) และผู้รู้บาลีในเมืองไทยก็รับรองว่าเป็นคำแปลที่ใช้ได้
จะเห็นได้ว่า แม้แต่ภาษาบาลีซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน (ตันติภาษา = ภาษาที่มีแบบแผน) ถ้าไม่รักษาแบบแผนไว้ให้ดี ความหมายก็อาจกลายไปได้
: พูดคนละภาษา แต่เมตตากันทุกวัน
: ดีกว่าพูดภาษาเดียวกัน แต่เกลียดกันทุกเวลา
#บาลีวันละคำ (807)
3-8-57